‘อินไซท์เอรา’ แนะเคล็ดลับ ใช้ ‘AI’ ติดปีกการตลาด

‘อินไซท์เอรา’ แนะเคล็ดลับ ใช้ ‘AI’ ติดปีกการตลาด

เจาะลึกวิธีใช้ AI และ แอปพลิเคชั่น อัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาด พร้อม 5 องค์ประกอบสำคัญสำหรับผู้นำ ในการเตรียมพร้อมดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันองค์กรสู่ความสำเร็จด้าน AI

นารีรัตน์ แซ่เตียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท อินไซท์เอรา จำกัดแสดงความเห็นถึงประเด็น “การใช้ AI และ แอปพลิเคชัน อัจฉริยะเพื่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล” ว่า ทุกวันนี้ธุรกิจองค์กรทุกขนาดกำลังเผชิญกับการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน AI และ แอปพลิเคชัน อัจฉริยะ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้งานและการทำงานภายในองค์กร

โดยเฉพาะ Generative AI ที่สามารถพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์และปรับเปลี่ยนเนื้อหาดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น รวดเร็ว และแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยสร้างทางเลือกในการออกแบบ ปรับแต่ง และพัฒนาผลงานตามข้อกำหนดของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ผู้นำทุกธุรกิจองค์กรจึงควรเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับการใช้เทคโนโลยี AI และ แอปพลิเคชัน อัจฉริยะเพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยี AI สำหรับธุรกิจองค์กรในอนาคต โดยควรมุ่งเน้นไปที่ 3 เรื่องหลัก ดังนี้

  1.  การตั้งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และระบุกรณีการใช้งาน AI ที่ชัดเจน เพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง
  2.  การจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับการรองรับ AI ทั้งในด้านบุคลากร เทคโนโลยี และข้อมูล
  3. การติดตามและวัดผลลัพธ์ของการใช้งาน AI อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์และกระบวนการที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม

โดยควรเลือกใช้ Generative AI ที่เหมาะสมกับธุรกิจองค์กรนั้นๆ เพื่อให้ AI สามารถตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยสามารถเลือกใช้ AI ให้เหมาะกับแต่ละธุรกิจองค์กรได้

เช่น การใช้แอปพลิเคชันที่มี AI ฝังในตัว (Consume), การนำ API ของ AI มาฝังในแอปพลิเคชันที่ใช้อยู่ (Embed), การปรับแต่งโมเดล AI โดยใช้ข้อมูลเฉพาะขององค์กร (Extend), การพัฒนาโมเดล AI เฉพาะที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรเอง (Build) ฯลฯ

หากจะนำ AI และ แอปพลิเคชัน อัจฉริยะมาใช้เพื่อการตลาด เครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์มากมายในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี ด้วยมิติความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และการเลือกสร้างแคมเปญที่ตรงโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งการปรับแต่งการโฆษณา (Ad Optimization) การสร้างเนื้อหา (Content Creation) การทดสอบแคมเปญแบบ A/B ในวงกว้าง การวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า (Sentiment Analysis)

รวมถึงการใช้ Chatbot อัจฉริยะเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างทันท่วงที ซึ่งการผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับแคมเปญการตลาดจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

อีกทั้งการที่ผู้นำธุรกิจองค์กรจะเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วย AI ให้ประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัย 5 องค์ประกอบ สำคัญ

ดังนี้ 1. ต้องกำหนดวัตถุประสงค์และกรณีการใช้งาน AI ให้ชัดเจน 2. ต้องมีข้อมูลและระบบข้อมูลที่สามารถรองรับและประมวลผล AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. เลือกใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่สอดคล้องกับการใช้งาน AI 4. บูรณาการ AI เข้ากับกระบวนการทำงานขององค์กรเพื่อสร้างความต่อเนื่อง 5. บุคลากรในองค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่พร้อมยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงและเปิดโอกาสการเรียนรู้และพัฒนา

หากธุรกิจองค์กรใดสามารถนำทั้ง 5 องค์ประกอบนี้มาใช้อย่างครบถ้วน ธุรกิจองค์กรนั้นก็จะสามารถบรรลุความสำเร็จในการนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดได้อย่างยั่งยืน

เพราะนับจากนี้ศักยภาพในการดำเนินงานของธุรกิจองค์กรจะสามารถวัดให้เห็นได้ ตั้งแต่การดำเนินงานตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น ถูกต้อง และรวดเร็วกว่าคู่แข่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแต้มต่อและสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจองค์กรได้อย่างยั่งยืน