'ภาษีคาร์บอน'แหล่งรายได้พิเศษรัฐบาลอินโดฯ
รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอน ด้วยความหวังว่าจะนำรายได้ในส่วนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายด้านต่างๆในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพลิกฟื้นเพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ภาษีคาร์บอน ถือเป็นค่าธรรมเนียม หรือภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากการผลิต การจำหน่าย หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ หรือ ถ่านหิน ซึ่งเมื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงพวกนี้แล้วจะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์และถูกปลดปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก การเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในแต่ละครั้งของการดำเนินกิจกรรมของโรงงาน โรงไฟฟ้า และยานยนต์ต่างๆ
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (24พ.ค.)ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 5,907 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,781,127 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ข้อริเริ่มเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนถูกรวมไว้ในเอกสารของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการวางเค้าโครงกรอบงานด้านเศรษฐกิจและนโยบายการคลังสำหรับปีหน้า “การจัดเก็บภาษีคาร์บอนมีประโยชน์มากมายหลายด้าน อันดับแรกคือลดปริมาณภาวะเรือนกระจกและต่อมาคือเพิ่มรายได้แก่รัฐบาล โดยรัฐบาลสามารถนำรายได้ที่เพิ่มเข้ามานี้ไปใช้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ”เอกสารของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ระบุ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)เสนอแนะให้อินโดนีเซียเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อยกระดับประชากร 115 ล้านคนในประเทศขึ้นสู่ชนชั้นกลางมาตั้งแต่ปี2563 แล้ว โดย“โรแลนด์ ไพรซ์” รักษาการผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า แผนงานของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จะทำให้รายได้ภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.5%
ขณะที่ข้อมูลรายได้ภาษีต่อจีดีพีของอินโดนีเซียอยู่ที่ 11.9% เมื่อปี 2561 ถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาค และต่ำกว่าไทย กับ ฟิลิปปินส์ ทั้งยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)ที่ 34.3% โดยในจำนวนประชากร 270 ล้านคนของอินโดนีเซีย มีประชากรแค่ 38.7 ล้านคนที่จ่ายภาษีเมื่อปี 2562
อินโดนีเซีย ต้องการเงินทุนเพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงการศึกษา และสร้างความมั่นคงให้กับประชากร 115 ล้านคน เพื่อให้มีโอกาสเข้าสู่การเป็นชนชั้นกลาง
ไพรซ์ มีความเห็นว่า หากไม่มีมาตรการเพิ่มรายได้ที่สมบูรณ์ จะทำให้รัฐบาลมีเงินน้อยลงสำหรับการไปดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานและปิดช่องว่างด้านทุนมนุษย์ อินโดนีเซียต้องสร้างความเข้มแข็งด้านรายได้ด้วยการขยายฐานภาษี และปรับปรุงการบริหารภาษี จากปัจจุบันที่ฐานรายได้ภาษีต่อจีดีพีของอินโดนีเซียยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก
ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนปฏิรูปภาษี เช่น ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่อนคลายภาษีรายได้สำหรับชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติที่ทำงานในอินโดนีเซีย ยกเว้นภาษีเงินปันผล และการกำหนดภาษีเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่
ในรายงานของธนาคารกลางโลก ยังระบุว่า ประชากรอินโดนีเซีย 115 ล้านคน หรือ 45% ของปรากรทั้งหมดพาตัวเองหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว แต่ยังไม่บรรลุเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะขยับฐานะขึ้นไปได้ แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะถูกดึงกลับลงไปได้ หากรัฐบาลใช้นโยบายที่ถูกต้องจะช่วยกระตุ้นการพัฒนา สนับสนุนการยกระดับสู่ชนชั้นกลาง ซึ่งมีเงินใช้จ่าย 532,000 รูเปี๊ยะห์ – 1.2 ล้านรูเปี๊ยะห์ ต่อคนต่อเดือนได้
ช่วงสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียไม่เคยจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า โดยเฉพาะในปี 2563 ที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคนี้
“ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของอินโดนีเซียต่ำกว่าชาติสมาชิกในกลุ่มจี-20และชาติสมาชิกอาเซียน เพราะมาตรการยกเว้นภาษีของรัฐบาล ประกอบกับมีความร่วมมือในการจ่ายภาษีเข้าภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก”รายงานของโออีซีดีเมื่อเดือนมี.ค. ระบุ
โออีซีดี เสนอแนะในรายงานว่า มาตรการต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ระยะยาวให้แก่ประเทศของรัฐบาลอินโดนีเซีย ควรครอบคลุมถึงการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์ ขยายฐานจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)และเพิ่มการจัดเก็บภาษียาสูบ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล