เปิดหลักการเปลี่ยนชื่อโควิดกลายพันธุ์! เลี่ยงถูกตีตราประเทศต้นกำเนิด
อนามัยโลกสั่งเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์โควิด จากที่ใช้ผสมกันระหว่างตัวอักษรกับตัวเลขชวนงงเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรกรีกแทน เพื่อจดจำและออกเสียงง่าย ไม่ต้องตีตราให้เข้าใจผิดว่าเป็นประเทศต้นกำเนิด
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 พ.ค.) องค์การอนามัยโลกเผยชื่อใหม่ของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ชื่อที่นักวิทยาศาสตร์เรียกนั้นชวนสับสน เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้มีหลายชื่อ เช่นB.1.351, 501Y.V2 และ20H/501Y.V2
ดับเบิลยูเอชโอจึงใช้ตัวอักษรกรีกแทนไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุที่น่ากังวลทั้ง 4 สายพันธุ์แทน ได้แก่สายพันธุ์ B.1.1.7 ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ เรียกว่า อัลฟา สายพันธุ์ B.1.351 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เรียกว่า เบตา สายพันธุ์ P1 ที่พบในบราซิล เรียกว่า แกมมา สายพันธุ์ B1.617.2 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย เรียกว่า เดลตาส่วนสายพันธุ์ที่น่าจับตาอื่นๆ ก็จะเรียงกันไปตามลำดับอักษร
นายมาร์ค พอลเลน นักแบคทีเรียวิทยา ที่ร่วมหารือเรื่องการเปลี่ยนชื่อเผยว่า การตัดสินใจใช้ตัวอักษรกรีก เกิดขึ้นหลังจากผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอย่างรอบคอบมานานหลายเดือนว่าจะใช้ชื่อเรียกใด เช่น ชื่อเทพเจ้ากรีก หรือตั้งขึ้นมาใหม่ แต่หลายชื่อก็ถูกตั้งเป็นชื่อแบรนด์ บริษัท หรือชื่อคนต่างประเทศอยู่แล้ว
ส่วนแนวคิดที่ให้เรียกชื่อสายพันธุ์ที่น่ากังวลว่าVOC1, VOC2 ฯลฯ ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะไปพ้องกับคำสบถในภาษาอังกฤษ
ที่ผ่านมา ชื่อไวรัสมักเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่เชื่อว่าปรากฏเชื้อขึ้นครั้งแรก เช่น อีโบลา ตั้งชื่อตามแม่น้ำในตำนานของคองโก แต่วิธีนี้อาจทำลายชื่อเสียงของสถานที่ และบ่อยครั้งเป็นการเรียกมั่ว เช่น ไข้หวัดสเปน ในปี 2461 ที่ไม่ทราบว่าต้นกำเนิดมาจากไหน
มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาดับเบิลยูเอชโอ ย้ำว่า ไม่ควรมีประเทศใดถูกตีตราเพราะตรวจเจอแล้วรายงานว่าพบโควิดสายพันธุ์ใหม่
ก่อนดับเบิลยูเอชโอใช้ระบบเรียกชื่อใหม่ นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งใช้ระบบตั้งชื่อแบบง่ายๆ เรียกโควิดสายพันธุ์ใหม่ เช่น รายงานเมื่อเดือน ก.พ. ใช้ชื่อนก “โรบิน” แต่ถูกวิจารณ์ว่า วิธีนี้อาจทำให้นกตกอยู่ในอันตราย แม่ของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ “โรบิน” ก็ไม่เห็นด้วยกับการเรียกชื่อโควิดแบบนี้