ลงทุนอย่างไร เมื่อ Fed เริ่มส่งสัญญาณถอนสภาพคล่อง
เปิดบทวิเคราะห์จะลงทุนอย่างไร เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มส่งสัญญาณถอนสภาพคล่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป จากที่ก่อนหน้านี้ Fed พยายามสื่อสารว่าจะยังคงนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะออกมาสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ว่าจะยังคงนโยบายผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งการเข้าซื้อสินทรัพย์ และคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน (0.00-0.25%) จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง การจ้างงานที่กลับมาเท่าช่วงก่อนวิกฤติและเงินเฟ้อกลับมาที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน แม้กระนั้น..ณ เวลานี้เริ่มเห็นนักเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้ออกมาคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มถอนสภาพคล่องในปีนี้!
ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว วัดจากดัชนีชี้นำอย่างตัวเลข Composite PMI เดือน พ.ค.ปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 68.1 จุด สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ นอกจากนั้นการจ้างงานก็เริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับลดลงทำจุดต่ำสุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบเงินเฟ้อที่เริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากผลของทั้งฐานต่ำ การขาดแคลนวัตถุดิบ และกำลังซื้อที่เริ่มกลับมา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์พร้อมใจกันปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของปี 2021 จากที่คาดว่าเติบโต 4% เป็นราว 6.5% เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีพร้อมกับเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นเช่นนี้ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณที่ Fed จะเริ่มถอนสภาพคล่อง เช่น
1. บันทึกการประชุม Fed ในเดือน เม.ย. ระบุว่าคณะกรรมการจะเริ่มหารือเรื่องการปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
2. Fed เริ่มถอนสภาพคล่องออกจากตลาดการเงินผ่านการทำ Reverse Repo หรือการขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อดึงเงินออกจากระบบ รวมมูลค่า 4.85 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติการณ์
3. Fed ปรับเพิ่มเพดานของวงเงินที่สถาบันการเงินสามารถฝากไว้ที่ธนาคารกลาง จาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 8 หมื่นล้านดอลลาร์
หากมาดูในประเทศอื่นที่มีการเร่งฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีไม่แพ้กัน ทำให้ธนาคารกลางบางแห่งเริ่มส่งสัญญาณถอนสภาพคล่องเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป เช่น ธนาคารกลางแคนาดา ถือเป็นประเทศแรกที่ได้ประกาศลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ลง 1 ใน 4 ในช่วงปลายเดือน เม.ย. พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ตามมาติดๆ ด้วยธนาคารกลางอังกฤษที่ประกาศในการประชุมเดือน พ.ค. ว่าจะลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงจาก 4.4 พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์เป็น 3.4 พันล้านปอนด์
ย้อนกลับไปในปี 2013 ที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ หรือที่เรียกว่า QE Tapering นั้นส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับลดลง -14.6% และจะเห็นได้ว่าประเทศที่ฐานะการเงินอ่อนแอจะปรับลดลงมากที่สุดอย่างกลุ่มละตินอเมริกา -18.9% ส่วนประเทศที่พื้นฐานแข็งแกร่งจะปรับลดลงน้อยกว่า เช่น หุ้นไทย (SET Index) -12.9% หุ้นจีน (CSI 300) -11.6% และหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) -9.0% แต่ตลาดหุ้นสหรัฐนั้นแทบไม่ปรับลดลงเลย (S&P500) -0.6% (ข้อมูลวันที่ 2 พฤษภาคม ถึง 25 มิถุนายน 2013) เนื่องจากยังมีหุ้นกลุ่ม Financials ที่ปรับเพิ่มขึ้นหนุนตลาด ได้อานิสงส์จากบอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 100 bps หรือ 1% ในช่วงนั้น
หากพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวของตลาดในรอบนี้พบว่าตลาดได้รับรู้ถึงการปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ไปแล้วพอสมควร โดยตั้งแต่ต้นปีบอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วราว 70 bps และด้านตลาดหุ้น Emerging markets นั้นพบว่าค่อนข้าง Underperform ตลาดหุ้นสหรัฐโดย MSCI Emerging markets +6% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้นถึง +12% ตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม) ดังนั้นถ้าหากว่า Fed ส่งสัญญาณการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์จริงๆ ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป เราประเมินว่าตลาดการเงินจะไม่เคลื่อนไหวผันผวนดังเช่นในปี 2013 เนื่องจากตลาดรับรู้ข่าวมาพอควรแล้ว
ในแง่ของกลยุทธ์การลงทุนที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ
1.ลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากบอนด์ยิลด์มีทิศทางเป็นขาขึ้นส่งผลลบต่อราคา และผลตอบแทนค่อนข้างน้อยไม่สามารถชดเชยราคาที่ปรับลดลงได้
2.เพิ่มเงินลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงิน ที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว และบอนด์ยิลด์เป็นขาขึ้น
3.กระจายการลงทุนใน Hedge Fund ที่มีกลยุทธ์การขายชอร์ตดัชนีเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม และหัวใจสำคัญที่สุดก็คือ การกระจายความเสี่ยงทั้งในแง่ของสินทรัพย์ลงทุนและช่วงเวลาที่เข้าลงทุน