เสิ่นเจิ้นลดค่าจ้างแรงงานหลังผู้ผลิตแห่ย้ายฐานหนี
เสิ่นเจิ้นลดค่าจ้างแรงงานหลังผู้ผลิตแห่ย้ายฐานหนี โดยดำเนินการสามด้านหลักๆเพื่อแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนแรงงานสูง คือลดการจ่ายเงินล่วงเวลาสำหรับแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานประจำ คุมเข้มกฎระเบียบในการจ่ายโบนัสและขยายเส้นตายสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน
เมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เป็นเมืองชายแดนทะเลทางใต้ของจีน อยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง มีพื้นที่ประมาณ 2,020 ตารางกิโลเมตร กำลังปรับปรุงกฏข้อบังคับด้านการจ่ายค่าจ้างแรงงานเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เพื่อไม่ให้ต้นทุนด้านแรงงานสูงกว่านี้ และเพื่อระงับการย้ายฐานการผลิตออกจากเมืองของบริษัทต่างๆเพื่อหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนด้านแรงงานถูกกว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก่อนหน้านี้ เสิ่นเจิ้นเคยมีชื่อเสียในการผลิตของลอกเลียนแบบผิดลิขสิทธิ์ แต่ต่อมาถูกแปลงโฉมจนกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำของจีน อย่างเทนเซนต์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ อาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซ ดีเจไอผู้ผลิตโดรน และผิง อัน กรุ๊ป บริษัทประกันภัย
เสิ่นเจิ้น มีแผนดำเนินการสามด้านหลักๆเพื่อแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนแรงงานสูง คือลดการจ่ายเงินล่วงเวลาสำหรับแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานประจำ คุมเข้มกฎระเบียบในการจ่ายโบนัสและขยายเส้นตายสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน
รัฐบาลเสิ่นเจิ้นอธิบายว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบรรดาแรงงานในระยะกลางถึงระยะยาว โดยการจ้างงานในจีนยังไม่ฟื้นตัวถึงระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และทางการเสิ่นเจิ้นหวังว่าการลดค่าจ้างจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน
ปัจจุบันนี้ เสิ่นเจิ้นกำหนดให้จ่ายค่าแรงสามเท่าแก่แรงงานที่มาทำงานในวันหยุด เช่น วันตรุษจีน แต่เมื่อปรับเปลี่ยนกฏการจ่ายเงินค่าจ้างใหม่ การทำงานในวันหยุดจะได้รับเงินค่าจ้างเท่ากับการทำงานวันหยุดช่วงปลายสัปดาห์ตามปกติ
ส่วนนายจ้างให้จ่ายโบนัสแก่พนักงานบนพื้นฐานที่ว่าพนักงานทำงานที่บริษัทมานานแค่ไหนในแต่ละปี ซึ่งข้อเสนอของทางการเสิ่นเจิ้นจะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆกำหนดแนวทางการจ่ายเงินโบนัสด้วยตัวเองได้ และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินในอัตราสูงให้แก่พนักงานที่ทำงานระยะสั้น
นอกจากนี้ ทางการเสิ่นเจิ้นยังอนุญาติให้มีการขยายเส้นตายแก่บริษัทต่างๆในการจ่ายเงินเดือนพนักงานไปจนถึงวันที่ 30 ของทุกเดือนจากปัจจุบันที่จ่ายเงินทุกวันที่ 22
เสิ่นเจิ้นถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2523ในช่วงที่จีนกำลังอยู่ในช่วงเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ บ่อยครั้งที่มีการทดสอบนโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆในเมืองนี้ก่อนที่จะนำไปปรับใช้ทั่วประเทศและในท้ายที่สุดแล้ว กฏระเบียบใหม่ในการจ่ายเงินค่าจ้างแก่แรงงานจะถูกนำไปใช้เพื่อยกเครื่องกฏหมายแรงงานแห่งชาติของจีน
บรรดาบริษัทต่างชาติที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเสิ่นเจิ้นจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ “บริษัทต่างๆที่มีโรงงานผลิตในเสิ่นเจิ้นจะมีต้นทุนด้านแรงงานลดลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกี่ยวข้องกับการอัพเดทสัญญาอาจจะถูกตีกลับจากบรรดาแรงงาน เพราะฉะนั้นบริษัทต่างๆต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง”มาซูมิ มิซูโน ประธานมิซูโน คอนซัลแทนซี โฮลดิงส์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฏหมายธุรกิจจีน กล่าว
สำนักงานสถิติแห่งชาติจองจีน เปิดเผยว่า จีนให้อำนาจและสิทธิประโยชน์แก่แรงงานมาตั้งแต่ให้การรับรองกฏหมายสัญญาว่าจ้างแรงงานฉบับใหม่ในปี 2551 ส่งผลให้อัตราค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าจ้างรายเดือนสำหรับแรงงานอพยพโดยเฉลี่ยในเมืองต่างๆของจีนปรับตัวขึ้นสองเท่าในรอบ10ปี เป็น 4,072 หยวน (630 ดอลลาร์)ในปี 2563
ขณะที่ผลสำรวจบริษัทประมาณ 6,000แห่งที่ดำเนินธุรกิจในเอเชียและโอเชียเนีย จัดทำโดยองค์การการค้านอกประเทศของญี่ปุ่น เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนของคนงานตามโรงงานในจีนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 531 ดอลลาร์ สูงกว่าในไทยที่มีอัตราค่าจ้างรายเดือนอยู่ที่ 447 ดอลลาร์ และ 431 ดอลลาร์ในมาเลเซีย
แต่การที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นก็ทำให้บริษัทจำนวนมากตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆที่มีต้นทุนด้านแรงงานถูกกว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการทำลายชื่อเสียงของจีนในฐานะโรงงานผลิตของโลกโดยตรง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของจีน ระบุว่า นับจนถึงเดือนเม.ย.บรรดาผู้ประกอบการที่เป็นชาวต่างชาติประมาณ 43,700 รายทำรายได้ให้จีนเป็นเงิน 20 ล้านหยวนหรือมากกว่านั้น ลดลง 24% จากปี 2557 ที่เป็นช่วงพีคสุด