'บังกลาเทศ'แหล่งผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์ดังโลก
'บังกลาเทศ'แหล่งผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์ดังโลกซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค
เนื่องจากได้ใช้อุปกรณ์มือถือ”เมด อิน บังกลาเทศ“ ที่ราคาถูกลงจนผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเป็นเจ้าของอุปกรณ์มือถือคุณภาพสูงได้
แบรนด์มือถือต่างประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักดีอย่างโนเกีย ซัมซุง วิโว และแบรนด์อื่นๆเลือกที่จะเข้าไปตั้งโรงงานร่วมทุนในบังกลาเทศเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
บังกลาเทศ ที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่น่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆของโลก เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้น อำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศที่มีประชากร 163 ล้านคนก็เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลบังกลาเทศยังออกมาตรการต่างๆเพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ เพิ่มการผลิตในท้องถิ่นและกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านโครงการ“เมด อิน บังกลาเทศ”ดึงดูดบรรดาแบรนด์มือถือดังๆของโลกให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตหรือโรงงานประกอบในประเทศด้วยการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับอุปกรณ์มือถือนำเข้า เก็บภาษีถูกลงสำหรับชิ้นส่วนที่นำเข้าและยกเว้นการจัดเก็บภาษีให้ผู้บริโภคที่ซื้อมือถือจากประเทศที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
บริษัทโนเกียจากฟินแลนด์เป็นผู้ประกอบการรายล่าสุดที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในบังกลาเทศ ตามหลังซัมซุง จากเกาหลีใต้ และออปโป ,วิโว,ทรานชั่น และเรียลมี ของจีนที่ปรับกลยุทธก่อนหน้านี้ที่เน้นรุกธุรกิจเข้าไปตลาดขนาดใหญ่กว่าอย่างอินเดียและบราซิลเท่านั้น
เจ้าหน้าที่รัฐบาลบังกลาเทศ ระบุว่า มีบริษัทผลิตมือถือสัญชาติจีนอีกหลายรายที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่องว่างด้านราคาระหว่างมือถือนำเข้าและมือถือที่ประกอบในท้องถิ่นซึ่งอยู่ระหว่าง 15-26% ทำให้การผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและตอนนี้มีสัดส่วนเกือบ 80% ของยอดขาย
เอ.เอช.เอ็ม มุสตาฟา คามา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบังกลาเทศเสนอให้มีการขยายการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ออกไปอีกสองปี ส่วนมาตรการอื่นที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค.คือการสกัดผู้ซื้อมือถือที่ลักลอบขายอย่างผิดกฏหมายไม่ให้จดทะเบียนมือถือกับเครือข่ายที่ให้บริการในท้องถิ่น
“วิธีนี้จะสกัดกั้นการหิ้วมือถือเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฏหมายได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้บรรดาผู้ประกอบการในท้องถิ่นทำส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น”ชาฮิดัล เอลัม ผู้อำนวยการทั่วไปของคณะกรรมาธิการด้านกฏระเบียบของการสื่อสารโทรคมนาคมบังกลาเทศ กล่าว
การผลิตมือถือในท้องถิ่นของบังกลาเทศเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนต.ค.ปี 2560 โดยบริษัทวอลตัน ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในท้องถิ่นเริ่มผลิตโดยใช้แบรนด์ของตัวเองในแถบชานกรุงธากา โดยผลิตสมาร์ทโฟนจำนวน 1.7 ล้านเครื่องและผลิตโทรศัพท์ฟีเจอร์เก่าจำนวน 4.3 ล้านเครื่อง
ส่วนบริษัทอื่นๆที่ผลิตสมาร์ทโฟนในบังกลาเทศตอนนี้เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริิษัทท้องถิ่น และส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือของบริษัทชั้นนำของโลก แต่วิโวและเรียลมี ที่ต่างก็อยู่ในเครือของบริษัทบีบีเค อิเล็กทรอนิกส์ ของจีนและบริษัททรานชั่นต่างก็เข้ามาตั้งโรงงานผลิตของตัวเองในบังกลาเทศ
"แทนซิบ อาห์เหม็ด" ผู้จัดการด้านแบรนด์จากวิโว บังกลาเทศ กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการครองส่วนแบ่งตลาดนับตั้งแต่เปิดตัวโรงงานในท้องถิ่นเมื่อปี 2562 ด้วยการผลิตมือถือที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลกให้แก่ผู้บริโภคท้องถิ่นในราคาที่สามารถหาซื่้อได้
ข้อมูลจากคานัลลิส บริษัทวิจัยชื่อดังระบุว่า ขณะนี้มือถือแบรนด์เรียลมี เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด3แบรนด์ในบังกลาเทศ โดยครองสัดส่วน 14%
“ตอนนี้เราสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ของเราในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้นแก่บรรดาผู้ใช้สมาร์ทโฟน และธุรกิจของเราเติบโตอย่างแข็งแกร่งในบังกลาเทศ ปัจจุบันนี้ โรงงานของเราในเมืองกาซิเปอร์ มีคนงาน 600 คน”โฆษกบริษัทเรียลมี กล่าว
ขณะที่เรซวานัล โฮค ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของหน่วยงานท้องถิ่นบริษัททรานชันของจีน บอกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทจะปรับราคามือถือให้ถูกลงมากกว่าที่เป็นอยู่เนื่องจากโรงงานในท้องถิ่นเริ่มผลิตเมนบอร์ด แบตเตอรี เครื่องชาร์จและส่วนประกอบอื่นๆได้เอง
ในส่วนของกระแสตอบรับจากผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้น โดย"อะติเกอร์ เราะห์มาน" ที่ปรึกษาด้านการเงินในกรุงธากา กล่าวว่า
“ตอนนี้เราใช้อุปกรณ์มือถือ”เมด อิน บังกลาเทศ“ เราภูมิใจกับสิ่งนี้ และมั่นใจว่าราคาสมาร์ทโฟนจะถูกลงไปมากกว่านี้จนถึงระดับราคาที่บรรดาผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของอุปกรณ์มือถือคุณภาพสูงได้”
กระแสบริษัทต่างชาติแห่เข้าไปตั้งฐานการผลิตมือถือในบังกลาเทศเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวปีละกว่า 7% ติดต่อกันหลายปี และในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. ปี 2563 จีดีพีของประเทศนี้ขยายตัว5.2% ถึงแม้เป็นการขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนหน้านี้แต่เป็นการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
ขณะนี้ บังกลาเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์ เพียงพอที่จะครอบคลุมการนำเข้านาน 6 เดือนและในปีงบประมาณล่าสุด บังกลาเทศได้รับเงินส่งกลับจากชาวบังกลาเทศที่ไปทำงานในต่างประเทศจำนวนกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงการคลังของบังกลาเทศ คาดการณ์ว่าเงินส่งกลับประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านดอลลาร์ภายในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นอกจากนี้ ทางการบังกลาเทศยังพยายามกระตุ้นการส่งออกให้ได้ปีละเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์
คณะกรรมาธิการด้านกฏระเบียบของการสื่อสารโทรคมนาคมบังกลาเทศ กล่าวทิ้งท้ายว่า นับจนถึงปลายเดือนพ.ค. จำนวนผู้ใช้งานมือถือจริงๆในบังกลาเทศมีจำนวน 175.27 ล้านคน ติดท็อป 10 ในเอเชีย สะท้อนให้เห็นว่าบังกลาเทศเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในสายตาแบรนด์สมาร์ทโฟนต่างๆ