'น้ำท่วมจีน-เยอรมนี'ตอกย้ำสภาพอากาศโลกเปราะบาง

'น้ำท่วมจีน-เยอรมนี'ตอกย้ำสภาพอากาศโลกเปราะบาง

อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งในเยอรมนีและในจีนเปรียบเหมือนคำเตือนที่ดังและหนักแน่นขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังทำให้เกิดหายนะภัยทางธรรมชาติรุนแรงขึ้นทั่วโลก

โดยเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและมีอีกหลายสิบคนที่ติดอยู่ในรถไฟใต้ดินในเมืองเจิ้งโจว เมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน ที่ถูกน้ำท่วมช่วงต้นสัปดาห์

ส่วนที่เยอรมนี ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมหนักจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 160 คน และเหตุน้ำท่วมที่เบลเยียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน ซึ่งหายนะภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศนี้ ตอกย้ำว่ารัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลก ต้องเตรียมพร้อมรับมือหายนะภัยทางธรรมชาติลักษณะคล้ายกันนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“รัฐบาลประเทศต่างๆควรตระหนักเป็นอันดับแรกว่าโครงสร้างพื้นฐานที่พวกเขาสร้างขึ้นมาทั้งในอดีตหรือแม้แต่เมื่อไม่นานมานี้ล้วนเป็นสิ่งเปราะบางเมื่อถูกโจมตีจากหายนะภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง”เอดูอาร์โด เอราราล รองศาสตราจารย์และผู้อำนวยการร่วมสถาบันกำหนดนโยบายน้ำของ ลี กวน ยู สคูล ออฟ พับลิก โพลิซี ของสิงคโปร์ กล่าว

สถานการณ์น้ำท่วมในจีน ล่าสุด วานนี้ (22ก.ค.)ทางการจีนได้เร่งอพยพประชาชนหลายหมื่นคนออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยทางตอนกลางของประเทศ ขณะเจ้าหน้าที่รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากฝนตกหนักในมณฑลเหอหนานที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบสัปดาห์นั้น เพิ่มขึ้นเป็น 33 คนแล้วในขณะนี้

หลายเมืองของจีนถูกน้ำท่วมอย่างหนักและพืชผลถูกทำลาย ขณะที่พายกำลังเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่ตอนเหนือ โดยความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ที่ 1.22 พันล้านหยวน (189 ล้านดอลลาร์)

สำนักพยากรณ์อากาศประจำมณฑลเหอหนานได้ยกระดับการประกาศเตือนภัยพายุใน 4 เมืองทางตอนเหนือของมณฑลเหอหนานขึ้นสู่สีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของระบบเตือนภัยสภาพอากาศ เมืองที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ซินเซียง, อันหยาง, เหอปี่ และเจียจั่ว

รายงานระบุด้วยว่า มีผู้เสียชีวิต 12 คนจากเหตุรถไฟใต้ดินในเมืองเจิ้งโจว เมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน ถูกน้ำท่วมเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ขณะที่มีผู้สูญหาย 8 ราย

ประชาชนจำนวนกว่า 73,000 คนกำลังอพยพออกจากเมืองอันหยางซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนมณฑลเหอหนาน หลังฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมในชุมชนเมื่อวันจันทร์ (19ก.ค.)

ด้านเมืองซินเซียง ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ทางตอนเหนือของเมืองเจิ้งโจว มีปริมาณน้ำฝน 812 มม. ระหว่างวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 7 แห่งในเมืองมีน้ำเอ่อล้น จนส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านและเมืองใกล้เคียงหลายแห่ง

ข้อมูลของทางการนับจนถึงช่วงเย็นของวันพุธ (21ก.ค.)ระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 470,000 คนและพืชผลบนพื้นที่กว่า 55,000 เฮกตาร์ หรือ 343,750 ไร่ ที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาในซินเซียง โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยที่กว่า 76,000 คนเข้าช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ผลศึกษาซึ่งตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ในวารสารGeophysical Research Letters ระบุว่า ในยุโรป การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น และเมื่อเกิดภายนะภัยทางธรรมชาติแต่ละครั้งจะกินเวลานานขึ้น เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีและเบลเยียมในช่วงที่ผ่านมา

ผลศึกษาชิ้นนี้ที่เกิดจากการจำลองสถานการณ์จริงจากคอมพิวเตอร์ บ่งชี้ว่า ขณะที่บรรยากาศที่อบอุ่นขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็ทำให้เกิดความชื้นมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อเมฆฝนแตกตัวจะทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น และภายในช่วงปลายศตวรรษ อาจเกิดพายุระดับต่างๆบ่อยขึ้น 14 เท่า

“คุณจำเป็นต้องใช้มาตรการทางเทคนิก สนับสนุนให้มีการสร้างกำแพงกั้นน้ำ แต่ขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นต้องปรับปรุงโมเดลเมืองต่างๆใหม่ด้วย และตอนนี้ หลายประเทศเริ่มหันมาพิจารณาที่ราบน้ำท่วมถึงกันมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดฝนตกหนักในปริมาณมาก วิธีการต่างๆอาจไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะที่เป็นอยู่ให้ได้”เฟรด แฮทเทอร์แมนน์ จาก Potsdam Institute for Climate Impact Research ให้ความเห็น

ด้าน“โก๊ะ เที๊ยะ-ยัง” นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก Singapore University of Social Sciences กล่าวว่าควรมีการประเมินแม่น้ำและระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่เปราะบางต่อปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่รวมถึงเมืองต่างๆและพื้นที่เพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ