กต. แจงไม่เกียร์ว่างจัดหา ‘วัคซีนโควิด’ ดูแล ปชช.
โฆษก กต. ออกโรงชี้แจง "การทูตวัคซีนเชิงรุก" เจรจาประเทศมหาอำนาจ - ต่างชาติจนสำเร็จ ได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายล็อต จัดส่งช่วยดูแลประชาชนไทยต่อเนื่อง
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงมีรายงานระบุว่า การดำเนินการทูตของไทยในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร อันทำให้บทบาทของไทยในโลกและเวทีระหว่างประเทศถดถอย รวมทั้งมีมิตรประเทศน้อยลง และไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้เท่าที่ควรว่า ไทยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิด มีพลวัตต่อเนื่อง และปฏิสัมพันธ์สม่ำเสมอต่อเนื่องกับนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งกับมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร และรัสเซีย
“ไทยรักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของนโยบายการต่างประเทศไทยมาโดยตลอด” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุการดำเนินความสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือที่ดีเชิงรุกและใกล้ชิดระหว่างไทยกับนานาประเทศส่งผลให้สามารถได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศทั่วโลกด้วยไมตรีจิตในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายธานี ไล่เรียงข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศได้เจรจากับต่างชาติ จนได้วัคซีนโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ จีน ส่งวัคซีนซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดสให้ไทยและอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัทซิโนแวค และบริษัทซิโนฟาร์ม เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ส่วน ญี่ปุ่น ได้มอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ส จำนวนกว่า 1.05 ล้านโดสให้แก่ไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564ด้านสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐ ได้แก่ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และโนวาแวกซ์ อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลง vaccine swap
ล่าสุด สหรัฐได้มอบวัคซีนไฟเซอร์ จำนวนกว่า 1.5 ล้านโดส ให้ไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม และประกาศจะบริจาควัคซีนเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส และให้ความช่วยเหลือไทยในการรับมือโควิด-19 อีก 5 ล้านดอลลาร์
สหราชอาณาจักร ได้นำส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 415,000 โดส แก่ไทย เมื่อต้นเดือนสิงหาคม รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ มอบเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 102 เครื่อง และชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร็ว (Rapid Antigen Test) จำนวน 1.1 ล้านชุดให้รัฐบาลไทยในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมารัฐบาลภูฏาน ได้แลกเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้า (vaccine swap) จำนวน 105,000 โดสกับรัฐบาลไทย โดยส่งมอบให้ไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม
กระทรวงการต่างประเทศประสบความสำเร็จในการเจรจาขอรับมอบยา Monoclonal antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนี ของบริษัท Regeneron จำนวน 1,000 - 2,000 ชุด
กระทรวงการต่างประเทศ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือเพื่อการสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย อย่างต่อเนื่อง
ในกรณีการดำเนินการทางการทูตในสถานการณ์ในเมียนมา นายธานี กล่าวยืนยันว่า ไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาและให้ความข่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ด้วยความห่วงใยอย่างต่อเนื่องในฐานะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเป็นเงินกว่า 25 ล้านบาทไทยต้องการเห็นสันติภาพ ความสงบสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมียนมา
ขณะเดียวกัน ไทยก็ตระหนักดีถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ในเมียนมา ด้วยเหตุนี้ ทุกย่างก้าวของไทยจึงต้องรอบคอบ และรอบด้าน โดยคํานึงถึงผลที่จะตามมาในทุกด้าน เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมาให้มีการยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และให้ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเป็นสำคัญ
ไทยเห็นว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยกันในเมียนมาได้ ดังนั้นไทยจึงเสนอแนวทางการดำเนินการ D4D ต่ออาเซียนที่นำไปสู่ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และพร้อมสนับสนุนภารกิจของดาโตะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ คนที่สอง ของบรูไน ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนด้านสถานการณ์ในเมียนมา อย่างเต็มที่
เรามุ่งหวังให้มีการเริ่มต้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนพิเศษฯ โดยเร็วตามเจตนารมณ์ฉันทามติของผู้นำอาเซียนดังกล่าว ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทางไกลกับผู้แทนพิเศษอาเซียน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมด้วย และไทยได้เข้าร่วมการประชุมประเทศผู้บริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา (Pledging Conference to Support ASEAN's Humanitarian Assistance to Myanmar) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งไทยก็เป็นผู้เสนอให้จัดขึ้นอย่างเร่งด่วน
ที่ประชุมดังกล่าวสามารถระดมเงินได้มากกว่า 8 ล้านดอลลาร์ โดยไทยประกาศให้เงินสมทบ 200,000 ดอลลาร์ และพร้อมอำนวยความสะดวกการขนส่งความช่วยเหลือไปยังเมียนมา
โฆษก กต.ชี้ว่า ไทยไม่อาจได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจและมิตรประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคในภารกิจที่สำคัญทั้งหมดนี้ หากมิใช่เพราะการดำเนิน “บทบาทการทูตเชิงรุกอย่างสมดุลและสร้างสรรค์” เช่นที่ผ่านมา แม้จะเป็นการทำงานท่ามกลางแรงกดดันของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19