ส่องสัมพันธ์จีน-เยอรมนีช่วงใกล้หมดยุคแมร์เคิล
จีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่สุดของเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางเศรษฐกิจของสองประเทศถูกจับตามองและตรวจสอบมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่“แองเกลา แมร์เคิล”นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ใกล้จะพ้นวาระการเป็นผู้นำประเทศ
ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง บริเวณท่าเรือฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี เครนขนาดยักษ์ผลิตในจีนกำลังถ่ายสินค้าจากเรือขนส่งสินค้าลำมหึมาของบริษัทคอสโก ชิปปิ้ง สัญชาติจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอลสามสนามรวมกันชื่อ“ซีเอสซีแอล มาร์ส” ซึ่งถือเป็นภาพที่ผู้คนแถวนั้นเห็นจนชินตา
ระบบรางที่แข็งแกร่งของฮัมบวร์กเชื่อมโยงกับพื้นที่ห่างไกลของยุโรปและเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างแผ่นดินและเครือข่ายทางทะเลของโครงการริเริ่มเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (บีอาร์ไอ)ของจีน โดยจีนครองสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของธุรกิจคาร์โกของฮัมบวร์กและเมืองนี้ก็เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นยุโรปของบริษัทคอสโก
ตอนนี้ คอสโก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนต้องการซื้อหุ้นข้างน้อยในหนึ่งในเทอร์มอนอลของท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่คนจากภายนอกจะเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมในท่าเรือ
“บริษัทจีนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไหนก็ตาม พวกเขาจะพยายามกรุยทางเพื่อจัดทำระบบห่วงโซ่อุปทานของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”แอ๊กเซล แมทเทิร์น ซีอีโอฝ่ายการตลาดท่าเรือฮัมบวร์ก กล่าวกับอัลจาซีราห์
ส่วนสินค้าประเภทต่างๆที่เดินทางจากฮัมบวร์กไปถึงเสิ่นเจิ้นและหนิงโปบอกเล่าถึงสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นระหว่างเยอรมนีและจีนได้เป็นอย่างดี โดยเยอรนีส่งออกรถยนต์ เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรที่ใช้ความแม่นยำและนำเข้าสินค้าประเภท โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมทั้งเสื้อผ้าจากจีน
ในทุกวันนี้ การส่งออกและการนำเข้าที่ท่าเรือฮัมบวร์กมีสมดุลดีแต่มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นมากว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเยอรมนีเริ่มสั่นคลอนมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งเยอรมนีมีการเผชิญหน้ากับจีนบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน การแทรกแซงการเมืองในฮ่องกง และความกลัวเรื่องการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมในภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ทำให้เยอรมนีเริ่มมองทางเลือกอื่น
“แมร์เคิลและจีนเติบโตทางธุรกิจและการค้ามาด้วยกัน ทั้งๆที่ทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันอยู่มาก”เทเรซา ฟัลลอน ผู้อำนวยการศูนย์กลางเพื่อการศึกษาเอเชีย ยุโรปและรัสเซีย กล่าว
ตอนนี้ แมร์เคิลเตรียมอำลาเส้นทางการเมืองเพราะฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาคือการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการค้าที่มีต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งจีน ที่อยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดของรัฐบาลเช่นเดียวกับการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ ขณะที่การปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เยอรมนีก็เหมือนกับรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่เดินตามรอยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเข้มงวดกับรัฐบาลปักกิ่งในการดำเนินนโยบายทางการค้า สิทธิมนุษยชน ปัญหาทะเลจีนใต้ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ
แต่“ไรน์ฮาร์ด บูติโกเฟอร์” หนึ่งในกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์จีนรุนแรงที่สุดของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์อัลจาซีราห์ว่า การดำเนินนโยบายต่อจีนอย่างไม่มีสมดุลของเยอรมนีจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติและจะส่งผลต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมอื่นๆในระบบเศรษฐกิจและแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อประเด็นความมั่นคงของประเทศ
ขณะที่ผลสำรวจความเห็นตีพิมพ์เมื่อเดือนส.ค.ของฟอร์ซา พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการที่แข็งกร้าวกับรัฐบาลปักกิ่งและปกป้องผลประโยชน์ของชาวเยอรมนี ส่วนบรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการอำลาเส้นทางการเมืองของแมร์เคิลจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่แก่ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและจีน
“นีลส์ ชมิดท์” โฆษกกิจการต่างประเทศของพรรคโซเชียล เดโมเครติก มีความเห็นว่าเยอรมนีต้องเปลี่ยนนโยบายที่ดำเนินกับจีนส่วนพรรคกรีน แสดงออกอย่างชัดเจนที่จะดำเนินนโยบายเข้มงวดกับจีนโดยเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัลจากอิทธิพลของจีน