ธุรกิจเอาท์ซอร์สฟิลิปปินส์โตต่อเนื่องแม้โควิดระบาด

ธุรกิจเอาท์ซอร์สฟิลิปปินส์โตต่อเนื่องแม้โควิดระบาด

ธุรกิจเอาท์ซอร์สฟิลิปปินส์โตต่อเนื่องแม้โควิดระบาดโดยผลสำรวจความเห็นบ่งชี้ว่าประมาณ 87% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5% และ 15% เพราะการฟื้นตัวของความต้องการทั่วโลก

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การประชุมทางไกลได้รับความนิยมอย่างมาก “ซูม”ธุรกิจบริการการประชุมผ่านออนไลน์สัญชาติอเมริกัน ที่ให้ภาพและเสียงคมชัดจึงกลายเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์อันดับหนึ่งของยุคโควิด-19 ระบาด

ปลายปีที่แล้ว  ซูม ได้รุกเข้าไปทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ เมืองหลวงคอลล์เซนเตอร์ของโลกเพื่อหาลูกค้าและหาการสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่ม     

"กิแอน  เรเยส“รองประธานเคเอ็มซี โซลูชันส์ คู่สัญญาของซูม กล่าวว่า ”เมื่อตอนเปิดตัวในมาเลเซีย ปลายปีที่แล้ว บริษัทพยายามแสวงหาทางออกเพื่อลดต้นทุนให้ได้ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 และตั้งแต่นั้น บริษัทก็มีพนักงานในสังกัดเพิ่มขึ้นสามเท่า"    
 

ซูม เป็นหนึ่งในบริษัทหลายสิบแห่งที่คว้าสัญญาฉบับใหม่โดยเอาชนะบรรดาบริษัทให้บริการธุรกิจเอาท์ซอร์ส(บีพีโอ)ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวคิดเป็นมูลค่า 26,700 ล้านดอลลาร์แม้ว่าเศรษฐกิจของโลกโดยรวมจะถดถอย

แต่ขณะที่อุตสาหกรรมเอาท์ซอร์ส หนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่มีมูลค่า 361,500 ล้านดอลลาร์เป็นที่ชื่นชอบของบริษัทต่างๆในฐานะที่ช่วยลดต้นทุนธุรกิจในช่วงที่บริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระบบอัตโนมัติผ่านแชทบ็อทและปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)ยังคงเป็นธุรกิจแห่งอนาคต 

 ข้อมูลจากสมาคมธุรกิจไอทีและธุรกิจที่ดำเนินการเป็นขั้นตอน(ไอบีพีเอพี) ระบุว่า อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการบริการที่ไม่เกี่ยวกับการใช้เสียงตั้งแต่การสนับสนุนด้านไอทีไปจนถึงระบบอัตโนมัติ รวมทั้งคอลล์เซนเตอร์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 1.4% เป็น 26,700 ล้านดอลลาร์

เมื่อปีที่แล้ว และหลังจากเพิ่มจำนวนพนักงานประมาณ 1.8% เมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้มีพนักงาน 1.32 ล้านคนในฟิลิปปินส์ที่มีประชากรโดยรวม 109 ล้านคน ซึ่งไอบีพีเอพี คาดการณ์ว่าจำนวนพนักงานจะเพิ่มเป็น 1.46 ล้านคนภายในสองปี

นอกจากนี้ ผลสำรวจความเห็นจากบริษัทจำนวนมากของไอบีพีเอพียังบ่งชี้ว่าประมาณ 87% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5% และ 15% เพราะการฟื้นตัวของความต้องการทั่วโลก

และการที่ฟิลิปปินส์เข้าครอบครองตำแหน่งงานต่างๆจากอินเดีย จุดหมายปลายทางด้านเอาท์ซอร์สใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นคู่แข่งหลักในธุรกิจบีพีโอของฟิลิปปินส์

ในส่วนของอินเดียสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทเพื่อการบริการแห่งชาติ คาดการณ์เมื่อเดือนก.พ.ว่า รายได้จากอุตสาหกรรมไอที-บีพีโอจะขยายตัวประมาณ 2.3% เป็น 194,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบการเงิน ซึ่งสิ้นสุดเดือนมี.ค.

“นิทิน โซนิ”ผู้อำนวยการอาวุโสฟิทช์ เรตติ้ง คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณ 10% ในปีงบการเงิน 2565 ท่ามกลางความต้องการด้านการบริการไอทีทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นและอินเดียก็เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้

แต่การที่อินเดียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19ช่วงต้นปีมานี้ ทำให้บริษัทหลายแห่งมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเข้ามาลงทุนในอินเดีย 

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมซึ่งปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อเพราะทำข้อตกลงเก็บข้อมูลเป็นความลับ กล่าวว่า มีการโยกตำแหน่งงานบางอย่างไปฟิลิปปินส์ รวมถึงบริษัทสืบค้นข้อมูลชั้นนำและยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของอเมริกัน 

“เรย์ อันทัล”ประธานกลุ่มการค้าเอาท์ซอร์สในฟิลิปปินส์ หรือไอบีพีเอพี กล่าวว่า ฟิลิปปินส์ดึงดูดความสนใจของบริษัทต่างๆที่วิตกกังวลว่าการระบาดของโรคโควิด-19 กำลังสร้างความวุ่นวายในการทำธุรกิจในอินเดีย

 "คอนเซนทริกซ์" บริษัทให้บริการบีพีโอ ซึ่งมีฐานดำเนินงานในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีพนักงาน 100,000 คนถือเป็นผู้ว่าจ้างเอกชนรายใหญ่สุดของฟิลิปปินส์ อยู่ในกลุ่มที่โยกงานไปไว้ที่กรุงมะนิลาขณะที่อินเดียกำลังดิ้นรนกับการรับมือกับโรคโควิด-19

“อะมิท แจ็กกา”หัวหน้าแผนกปฏิบัติการของคอนเซนทริกซ์  ฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียเมื่อเดือนก.ค.ว่า บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซ เทคโนโลยี และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคได้รับตำแหน่งงานใหม่เพิ่มหลายพันตำแหน่ง หลังจากโรคโควิด-19 เริ่มระบาด ทำให้ฐานลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ขยายตัวมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว รายได้ของไอบีพีเอพีลดลงเล็กน้อยเนื่องจากผลกระทบจากโรคโควิด-19ที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น สายการบิน ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลสร้างความปั่นป่วนแก่การดำเนินงานของบริษัทต่างๆ 

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ระบุว่า ธุรกิจบีพีโอเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญพอๆกับอุตสาหกรรมอาหารและการดูแลสุขภาพของประเทศ

 เมื่อประธานาธิบดีประกาศล็อกดาวน์ในเดอนมี.ค.ปี 2563 แต่อนุญาติให้สำนักงานเปิดทำงานได้ในเวลาที่จำกัด อุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ต้องพึ่งพาระบบบริหารจัดการหลังบ้านอย่างมากเพราะการทำงานตลอด24ชั่วโมงและข้อเรียกร้องด้านความปลอดภัยของข้อมูลจากลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร

 ไตรมาส4ของปีที่แล้ว ความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆอาทิ เทคโนโลยี เกม การสื่อสาร สื่อ อี-คอมเมิร์ซ ฟินเทคและการดูแลสุขภาพเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 “ขณะที่มาตรการรักษาระยะห่างสร้างข้อจำกัดด้านกายภาพแก่ประชาชน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคห่างกันออกไป และผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ความต้องการด้านดิจิทัลและการบริการทางไกลเพิ่มขึ้นมาก”กฤษณา ไบทยา ผู้อำนวยการฟรอสต์ แอนด์ ซุลลิแวน บริษัทที่ปรึกษาและบริหารจัดการ ให้ความเห็น