แบงก์ชาติจีนย้ำคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดหลักทรัพย์

แบงก์ชาติจีนย้ำคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดหลักทรัพย์

แบงก์ชาติจีนแถลง คุ้มครองสิทธิทางกฎหมายของผู้บริโภคจากผลกระทบในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคารแต่แถลงการณ์ดังกล่าวที่ปรากฎในเว็บไซต์ของธนาคารกลางจีน ไม่มีการระบุถึงบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป แต่อย่างใด

แถลงการณ์ยังระบุว่า ธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่น เหมาะสม และตรงเป้าหมาย

ทั้งนี้ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ได้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 2 งวดที่มีกำหนดชำระวันที่ 23 ก.ย. โดยผิดนัดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินหยวนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย.2568 รวมทั้งดอกเบี้ยวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

อย่างไรก็ดี เอเวอร์แกรนด์ยังคงมีระยะเวลาผ่อนผันอีก 30 วันในการหาทางระดมทุน ก่อนที่จะถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้

นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังมีกำหนดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 29 ก.ย.สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567

ขณะเดียวกัน เอเวอร์แกรนด์ยังมีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ทุกเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งได้แก่ เดือนต.ค.,พ.ย.และธ.ค.

เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในสัปดาห์ที่แล้ว แม้ว่าประธานบริษัทออกแถลงการณ์สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ก.ย. ขณะที่ทางการจีนก็ได้แจ้งเตือนบริษัทให้ทำการชำระหนี้หุ้นกู้สำหรับนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์

แม้เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้มาหลายวันแล้ว ขณะที่มีดอกเบี้ยงวดใหม่ที่รอการชำระในสัปดาห์นี้ แต่ผู้บริหารของเอเวอร์แกรนด์ก็ยังคงเก็บตัวเงียบ โดยไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆต่อผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท รวมทั้งไม่ได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง

เจ้าหนี้ต่างชาติที่ถือหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ของเอเวอร์แกรนด์ ต่างก็ไม่ได้คาดหวังว่าทางบริษัทจะสามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในสัปดาห์ที่แล้ว

เจ้าหนี้เหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการติดต่อจากทางบริษัทเกี่ยวกับการชำระหนี้หุ้นกู้ ขณะที่เอเวอร์แกรนด์ก็ยังไม่มีการประกาศแผนการชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว

ข้อมูลจาก Morningstar Direct ระบุว่า กองทุนขนาดใหญ่ที่ได้เข้าซื้อหุ้นกู้จำนวนมากของเอเวอร์แกรนด์ ได้แก่ Fidelity Asian High-Yield Fund, UBS (Lux) BS Asian High Yield (USD), HSBC Global Investment Funds - Asia High Yield Bond X, Pimco GIS Asia High Yield Bond Fund, Blackrock BGF Asian High Yield Bond Fund และ Allianz Dynamic Asian High Yield Bond

นอกจากนี้ Ashmore Group และ BlueBay Asset ก็ได้ถือครองหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์เช่นกัน

ทางการจีนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลต่างๆเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์

คำเตือนดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจีนไม่มีความประสงค์ที่จะเข้ากอบกู้กิจการของเอเวอร์แกรนด์ แต่จะเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของจีน หากเอเวอร์แกรนด์ต้องประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด

เจ้าหน้าที่ระบุว่าคำเตือนของทางการจีนเหมือนกับคำสั่งให้“เตรียมพร้อมรับมือพายุที่จะเกิดขึ้น” ขณะที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่างๆได้รับการกำชับจากทางการจีนว่าให้มีการดำเนินการในนาทีสุดท้ายก่อนที่เอเวอร์แกรนด์จะล้มละลาย เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

เอเวอร์แกรนด์ ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ ยังมีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน