‘เวิลด์แบงก์’ วิพากษ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประเทศ

‘เวิลด์แบงก์’ วิพากษ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประเทศ

‘เวิลด์แบงก์’ วิพากษ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประเทศ โดยมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในไทยค่อนข้างเปราะบาง เพราะอัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ

นับถอยหลังไทยเปิดประเทศ ซึ่งปักหมุดหมายไว้ในวันที่ 15 ต.ค.2564 หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง

โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ดร.“อาดิตยา แมตทู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก  (เวิลด์แบงก์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ไทยเป็นประเทศที่มีแผนการฟื้นฟูประเทศอย่างมีขั้นตอน และมาตรการด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง สามารถรับมือโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม 

แต่ขณะนี้ดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในไทยค่อนข้างเปราะบาง เพราะอัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ แต่เห็นได้ชัดว่ากำลังเร่งมือสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ตามเป้า เชื่อว่า สัดส่วนการฉีดวัคซีนจะสูงขึ้นในอีกไม่ช้า และคาดว่าจะไปถึงเป้า 70% กลางปีหน้า
 

เวิลด์แบงก์ เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประจำเดือน ต.ค. 2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขจัดความยากจน และการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง

ซึ่งในส่วนของไทย เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2564 เหลือ 1% จากเดิมเมื่อเดือน ก.ค.64 ที่คาดการณ์ไว้ 2.2% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ 3.6% ในปี 2565 โดยคาดว่า เศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวราว 3 ปี 

เวิลด์แบงก์ มองว่า เศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัว และมีการเติบโตด้านการส่งออกที่ดี อย่างที่เห็นว่า การส่งออกของไทยลดลงเพียง 1% จากปีก่อนที่หดตัว 3.65% แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ค่อยมีพลวัตรด้านการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเท่าไรนัก ซึ่งแตกต่างจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เห็นชัดเจนที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนว่า มีการออกกฎหมายเพิ่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และยังเปิดเสรีในอุตสาหกรรมค้าปลีกด้วย 

"ไทยได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกว่า มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่กลับกลายเป็นว่า ความสามารถที่จะปฏิรูปเชิงลึก เพื่อนำพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ยังไม่มีความชัดเจน และนี่เป็นสิ่งน่าห่วงในขณะนี้ เพราะอาจส่งผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต" แมตทู ระบุ

เดิมเศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงกับการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า

สำหรับไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มฉีดวัคซีนได้ 60% ภายในปีนี้ เช่นเดียวกับกัมพูชา มาเลเซีย และคาดว่า ไทยจะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 70% ได้ราวกลางปี 2565 ในระหว่างนี้ที่ยังไม่อาจเปิดประเทศได้เต็มรูปแบบ ย่อมมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนหลังจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว

ในปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะยังไม่ฟื้นตัว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการแซนด์บ็อกซ์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศก็ยังน้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะอยู่ที่ 1.6 แสนคน ถือว่าต่ำมาก ขณะที่ปี 2565 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมีการเร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน ส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนมากขึ้น

แมตทู กล่าวว่า ในรายงานเวิลด์แบงก์มีข้อเสนอแนะเรื่องความพยายามของประเทศต่างๆ ที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องจับคู่ทำข้อตกลงทวิภาคี เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวระดับประชาชนใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.แรงงานข้ามประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องทำแยกจากกัน เช่น ข้อตกลงเคลื่อนย้ายด้านแรงงาน และการจัดทำระเบียงท่องเที่ยว โดยประเทศไหนสามารถนำร่องก็ให้ทำไปก่อนได้ หวังกระตุ้นการฟื้นตัว ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นด้านการเดินทาง

ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างเชื่องช้า ประชาชนส่วนใหญ่รีรอที่จะรับวัคซีน เวิลด์แบงก์ย้ำว่า ทุกคนต้องไม่มองว่าวัคซีนเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่วัคซีนเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทำให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้

นั่นหมายความว่า มาตรการรักษาระยะห่าง การยกระดับมาตรฐานด้านสาธารณสุขเพื่อช่วยชีวิตประชาชน และทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับไวรัสนี้ได้ในอนาคต

“เวิลด์แบงก์มองว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังไตร่ตรองอยู่ว่าจะใช้เวลาช่วงการระบาดโควิด-19 ปฏิรูปกฎหมายด้านการค้า-การลงทุนแบบที่อินโดนีเซียทำหรือไม่ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเหมือนไทย และรายได้ประเทศส่วนหนึ่งยังพึ่งพาเงินส่งกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์เหมือนกับเมียนมา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฯ กล่าว

ในกรณีเมียนมา มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แมตทู มีความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจ และสร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนเมียนมาทั้งประเทศ หากมองในแง่การส่งออกและการลงทุนที่มีจีนเป็นประเทศที่ลงทุนรายใหญ่ อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่กลับส่งผลต่อภาคการผลิต เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศทำให้ชาวเมียนมาหยุดงานประท้วงเป็นระยะๆ

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มองว่า กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่ข้ามแดนมาทำงานในไทย จะมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยทั้งในปัจจุบัน และหลังเปิดประเทศแล้ว ดังนั้นไทยควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูประบบสวัสดิการประชาชนในประเทศ และแรงงานต่างชาติ