รู้จักอิสราเอลที่แท้จริงกับอุปทูตรักษาการ ‘ออร์นา ซากิฟ’

รู้จักอิสราเอลที่แท้จริงกับอุปทูตรักษาการ ‘ออร์นา ซากิฟ’

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในเงื้อมเงาของโควิด-19 วงการทูตมีการโยกย้ายเก่าไปใหม่มา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังดำรงอยู่ ยิ่งเกิดวิกฤตินานาประเทศยิ่งต้องร่วมมือกันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยได้ออร์นา ซากิฟ มาดำรงตำแหน่งอุปทูตรักษาการ สานต่อมิตรภาพระหว่างไทยกับอิสราเอลที่ดำเนินมานานหลายสิบปี โอกาสนี้กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่จะมีต่อไปในอนาคต 

Q: ก่อนมาประจำการคุณเคยมาเมืองไทยหรือไม่

A: ดิฉันมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 1990 (พ.ศ.2533) ตอนนั้นมาแบบนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ก ก็อย่างที่คุณรู้ล่ะค่ะ หนุ่มสาวอิสราเอลหลายคนหลังจากเป็นทหารก็แบ็กแพ็กมาเที่ยวเมืองไทย ที่อิสราเอลผู้หญิงก็ต้องเป็นทหาร ดิฉันอยู่ในหน่วยที่ต้องสอนเด็กผู้ชายใช้และขับรถถัง สอนยิงซึ่งเครียดมาก เสร็จแล้วก็อยากผ่อนคลาย

ดิฉันมาเมืองไทยกับแฟนซึ่งเวลานี้ก็คือสามี เรามาเที่ยวเมืองไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ 5 เดือน เทียบกับวันนี้เมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ยกตัวอย่างนะคะ อย่างที่เกาะเสม็ดตอนที่เราไปพัก เป็นที่พักเล็กๆ ไฟฟ้าไม่มี ไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อนเรากลับไปอีกครั้ง 30 ปีผ่านไปเปลี่ยนแปลงไปมาก มีรีสอร์ทสวยๆ และสิ่งปลูกสร้างมากมาย

หลังจากนั้นดิฉันเป็นนักการทูตประจำการในเอเชียและแปซิฟิกก็มาเที่ยวเมืองไทยเป็นประจำ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มาเมืองไทยในฐานะนักการทูต เนื่องจากเคยมาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้งและรักเมืองไทย เมื่อได้มาประจำการที่นี่ดิฉันมีความสุขมากค่ะ

Q: ท่านทูตคนก่อนได้ฝากฝังงานอะไรไว้เป็นพิเศษ

A: ก็ไม่ถึงกับฝากฝังนะคะเพราะเจ้าหน้าที่คนไทยที่นี่ทำงานกันมานานทำให้งานต่อเนื่อง แต่มีงานใหญ่งานหนึ่งคืองานแสดงภาพถ่ายบุคคลสำคัญ ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะจัดได้ภายในสิ้นปีนี้เพราะโควิด แต่เราก็หวังอย่างมากว่าปีหน้าจะจัดงานใหญ่นี้ได้ นี่คืองานเดียวที่ค้างอยู่ งานอื่นก็ไม่แตกต่างนั่นคือความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด เราอาจมีคนใหม่ๆ เข้ามา มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ความสัมพันธ์ที่ดีและความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดำเนินมายาวนานคือสิ่งที่ดิฉันต้องสานต่อ

Q: ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้สัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยั่งยืนมานาน

A: อย่างแรกเลยเป็นเพราะเราเข้าใจกันและกันค่ะ ชาวอิสราเอลอย่างดิฉันมาเมืองไทยปีละประมาณ 200,000 คน เขารักประเทศไทย รักอาหารไทย รักคนไทย แต่ละปีเรามีโครงการความร่วมมือด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข การศึกษา ในระดับการเมืองมีข้อตกลงระหว่างกันมากมาย แม้จะอยู่ห่างกันแต่เราก็มีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี

Q: นอกเหนือจากนโยบายหลักจากรัฐบาลแล้วคุณมีนโยบายใดเป็นพิเศษหรือไม่ในฐานะนักการทูตประจำประเทศไทย

A: ก็มีในหลายระดับนะคะ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านเศรษฐกิจและการค้า อิสราเอลเคยผ่านคืนวันอันหนักหน่วงเรื่องน้ำและการใช้น้ำ เราต้องกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ระบบชลประทานน้ำหยดในการเกษตร สิ่งเหล่านี้ก้าวหน้าไปมาก แต่เมืองไทยมีปัญหาไม่เหมือนกัน เราไม่มีน้ำ คุณมีน้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการน้ำ หรือการเกษตร คุณปลูกข้าวในนาได้อย่างที่ทำกันมาแต่โบร่ำโบราณ แต่เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้ระบบชลประทานน้ำหยดพร้อมปุ๋ยก็ช่วยประหยัดน้ำได้มากและได้ผลผลิตดีขึ้น เดี๋ยวนี้อิสราเอลเชี่ยวชาญมากเรื่องการปลูกพืชให้ได้ผลดียิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้เรื่องความมั่นคงด้านน้ำ ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน

นี่คือตัวอย่างนะคะ และโดยส่วนตัวแล้วดิฉันเชื่อว่า นักการทูตไม่สามารถตัดขาดจากชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ ดิฉันอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไปพบผู้นำ ไปพบรัฐมนตรี ตอนที่ดิฉันเพิ่งมาถึงได้อ่านหนังสือพิมพ์ทราบว่า สภากาชาดไทยขาดแคลนเลือด สถานทูตก็ไปบริจาคเลือดทั้งยังเชิญชวนชาวอิสราเอลอื่นๆ ไปบริจาคด้วย เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ช่วยให้หลายๆ คนเข้าใจว่าช่วงโควิดก็มาบริจาคเลือดได้ เราเชื่อมั่นเรื่องการทำดีให้กับชุมชน สัปดาห์นี้เราก็เพิ่งบริจาคเงินให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ในโครงการ “กล่องอุ่นใจ” เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเด็กพิการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 50 ครอบครัว

นี่คือสิ่งที่พวกเราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน เรายังมีไอเดียใหม่ๆ อีกและอยากทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่คือ “การทูต” ในทัศนะของดิฉัน แน่นอนว่าการทูตในระดับสูงนั้นสำคัญมาก แต่ระดับประชาชนกับประชาชนก็สำคัญเช่นกัน

Q: บางคนบอกว่า การทูตสาธารณะคือการหาแฟนคลับให้ประเทศของเรา

A: ดิฉันไม่คิดว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นแค่การหาแฟนคลับนะคะ อิสราเอลแตกต่างกับประเทศอื่นตรงที่ ในบางส่วนของโลกเรายังต้องอ้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอล มีไม่กี่ประเทศที่มีปัญหาหรือความท้าทายแบบนี้ หลายครั้งที่คนคิดถึงอิสราเอลก็คิดถึงสงคราม การก่อการร้าย ดิฉันมาที่นี่เพื่อจะบอกว่า อิสราเอลยังมีอะไรมากมายกว่านั้น เรามีนวัตกรรม มีเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ มนุษยธรรม ประชาชนต่อประชาชน นี่คืออิสราเอลที่แท้จริง ถ้าทุกคนได้มาเห็นอิสราเอลจริงๆ พวกเราคงไม่ต้องโพสต์เฟซบุ๊ค แต่ในเมื่อใช่ว่าทุกคนจะไปได้ ดิฉันก็ต้องบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่าง มันมากกว่าที่คุณเห็นในหนังสือพิมพ์หรือในทีวี

Q: แต่ที่ผ่านมาแม้ในเวลาปกติการจะไปอิสราเอลก็ดูเหมือนค่อนข้างยาก

A: ไม่ยากนะคะ จริงๆ แล้วเราต้อนรับนักท่องเที่ยวมาก อาจมีประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยบ้าง เวลาคุณไปถึงอิสราเอลก็เหมือนประเทศอื่นๆ แหละค่ะ ต.ม.ก็ต้องถาม เวลากลับก็ถามยิ่งกว่า แต่คนส่วนใหญ่ที่ได้ไปอิสราเอลก็มักมีความรู้สึกดีๆ อิสราเอลปลอดภัยมาก เมื่อมีสงครามก็เกิดในพื้นที่จำกัด แม้เราจะเป็นประเทศเล็กแต่ถ้าอยู่ทางภาคเหนือ อยู่เทล อาวีฟ หรืออยู่ชายแดนกาซาบรรยากาศก็แตกต่างกันมาก แต่ส่วนใหญ่เราปลอดภัยมากๆ คนไทยก็อยู่ที่นั่น มีแรงงานไทย 25,000 คนอยู่ในอิสราเอลตามข้อตกลงทวิภาคี นักศึกษาไทยก็ไปฝึกงานในภาคเกษตรจำนวนมาก คนไทยอยู่ที่นั่นเยอะค่ะ

Q: ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงความร่วมมือด้านเกษตร แล้วความร่วมมือด้านโควิดระหว่างอิสราเอลกับไทยมีอะไรบ้าง 

A: เราคุยกันต่อเนื่องว่าจะนำผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาเมืองไทยเร็วๆ นี้ อย่างที่คุณรู้อิสราเอลมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญมากๆ ในเรื่องโควิด เพราะเราเป็นประเทศเล็กการจัดการระบบดี ทุกอย่างเข้าระบบดิจิทัลหมด ชาวอิสราเอลทุกคนต้องทำประกันสุขภาพที่มีอยู่ราวๆ 3-4 องค์กร บังคับเลยว่าต้องทำจะมาบอกว่าไม่เอาไม่ได้ เวลาจ่ายภาษีเงินส่วนหนึ่งก็เข้าตรงไปสู่องค์กรเหล่านี้ ข้อมูลทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมดจึงง่ายมาก เรายินดีจะแบ่งปันประสบการณ์กับไทย 

อิสราเอลเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ซื้อวัคซีนไฟเซอร์และใช้เป็นวัคซีนหลัก และการที่เราเป็นประเทศเล็กประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน ไฟเซอร์เองก็อยากดูเหมือนกันว่าเราฉีดวัคซีนยังไง ตอนนี้ประชากรกว่า 30% ฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้ว เพราะเรารู้ดีว่า เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันลดลง ต้องฉีดเข็ม 3 เริ่มฉีดจากประชากรวัย 60 ปี ตอนนี้ฉีดเข็ม 3 ให้กับวัย 12 ปีแล้ว เพื่อกำจัดสายพันธุ์เดลตา เราก็อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ด้านการแพทย์รวมถึงด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้มั่นใจว่าทำทุกอย่างได้ถูกต้อง

Q: เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งครบรอบหนึ่งปีข้อตกลงอับราฮัม ดูจากเฟซบุ๊ค Israel in Thailand คุณได้พบกับทูตประเทศอาหรับหลายท่าน การพบกันภายใต้บริบทของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

A: ข้อตกลงนี้ลงนามกันเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563 ที่ทำเนียบขาว สำหรับพวกเราชาวอิสราเอลซาบซึ้งใจยิ่ง หลายปีมากที่เราไม่ได้มีสัมพันธ์การทูตที่เหมาะสมกับประเทศอ่าวอาหรับ เมื่อเราเปิดความสัมพันธ์จึงน่าตื่นตาตื่นใจมากที่ได้เห็นประชาชนในภูมิภาคนี้เชื่อมโยงกับอิสราเอล เมื่อสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างกันก็มีเที่ยวบินตรงจากบาห์เรน ดูไบ อาบูดาบี ชาวอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กว่าสองแสนคนเดินทางไปมาหาสู่กัน นี่คือช่วงของโควิด ผู้คนท่องเที่ยวกันสนุกสนาน เดินทางไปทำธุรกิจได้ 

ยูเออีกับอิสราเอลลงนามข้อตกลงและเอ็มโอยู (บันทึกความเข้าใจ) ทางการค้ากันไปแล้วมากกว่า 30 ฉบับ กับบาห์เรนก็อีกกว่า 20 ฉบับ ดิฉันจำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้แต่ระหว่างอิสราเอลกับโมร็อกโกก็ราว 20 ฉบับเหมือนกัน น่าตื่นเต้นมากค่ะ ผู้คนรอให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตอนที่อิสราเอลรับทูตบาห์เรน ยูเออี และโมร็อกโก ประชาชนกรี๊ดกร๊าดราวกับเป็นคนดัง และคิดกันว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเรามาตั้งนานแล้ว 

ความสัมพันธ์ระหว่างเราในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ดีค่ะ ดิฉันเพิ่งพบทูตยูเออีและทูตโมร็อกโก คุยกันเรื่องความร่วมมือและโครงการที่จะทำร่วมกันได้ในประเทศไทย อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม สำหรับดิฉันอยากโปรโมทเรื่องการเพิ่มพลัง (empowerment) ให้ผู้หญิง ให้ผู้ประกอบการหญิง ผู้หญิงจากภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซีอีโอ/ซีทีโอหญิงจากประเทศเหล่านั้นมาพูดคุยสนทนาโต๊ะกลมเพื่อเพิ่มพลังให้ผู้หญิงคนอื่นๆ วันก่อนดิฉันเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ร่วมกับทูตโมร็อกโก เมื่อสองปีก่อนใครเคยคิดคะว่าจะมีเรื่องแบบนี้

Q: ทราบว่าอิสราเอลไปร่วมงานดูไบเอ็กซ์โป 2020 ด้วย

A: เราคุยเรื่องงานดูไบเอ็กซ์โปตั้งแต่ก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเออี ผู้คนประทับใจกับนิทรรศการของอิสราเอลมาก ชาวอาหรับจำนวนมากไปเยี่ยมชมอาคารจัดแสดงของอิสราเอล นักข่าวก็เขียนถึง อิสราเอลทุ่มเทอย่างมากเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้ชมในงานเอ็กซ์โป เราไปร่วมงานมาหลายที่ไม่ว่าจะที่เกาหลีใต้ ที่เซี่ยงไฮ้ หรือที่อื่นๆ แต่ที่ดูไบถือว่าสำคัญมากๆ สำหรับเรา ประชาชนในอีกหลายส่วนของโลกยังไม่รู้ว่าอิสราเอลจริงๆ แล้วเป็นอย่างเรา เรามีนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยีแก้ปัญหาต่างๆ มากแค่ไหน

Q:  เดือนหน้าจะมีการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ อิสราเอลมีนโยบายในการลดก๊าซคาร์บอนอย่างไร

A: ตอนนี้ผู้นำโลกต่างกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า ทุกอย่างรุนแรงมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภัยพิบัติทุกอย่างเกิดจากฝีมือมนุษย์ อิสราเอลพัฒนายุทธศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรับมือความท้าทายด้านนิเวศวิทยาบางประการ แต่คุณก็รู้ว่าประเทศเดียวแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศต้องร่วมมืือกัน ตอนนี้นานาประเทศได้รับปากช่วยกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อิสราเอลพัฒนาโซลูชันหลายอย่าง อาทิ พลังงานหมุนเวียน หรือโซลูชันสำหรับปัญหาที่เราเคยเผชิญมาก่อน เช่น น้ำ การเกษตร เป้าหมายไม่ใช่แค่ป้องกันวิกฤติแต่ยังช่วยสร้างการปรับตัวในอนาคต

 อิสราเอลตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 27% จากระดับปี 2558 ภายในปี 2573 และภายในปี 2593 จะลดให้ได้ 85% ตอนนี้รัฐบาลกำหนดเป้าสำหรับแต่ละภาคส่วนทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พลังงาน การขนส่ง การจัดการขยะ นอกจากนี้เรายังตัดสินใจเก็บภาษีคาร์บอนเป็นมาตรการเสริมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างที่ดิฉันบอกแหละค่ะว่าปัญหาเราต่างกัน เมืองไทยน้ำท่วม ที่อิสราเอล ฝน 60%-70% ตกในทะเลทราย ทำอย่างไรจะจัดหาน้ำให้ประชากรได้เพียงพอ เทคโนโลยีที่เราพัฒนานอกจากแก้ปัญหาน้ำแล้วยังแก้วิกฤติสภาพอากาศด้วย เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลมาก ตอนนี้อิสราเอลเปลี่ยนจากประเทศมีน้ำไม่เพียงพอให้ประชากรใช้ มาเป็นประเทศส่งออกน้ำให้เพื่อนบ้านปาเลสไตน์และจอร์แดน ส่วนใหญ่เป็นการกลั่นน้ำทะเล หมายความว่าทุกวันนี้ 75% ของน้ำที่เราดื่มเป็นการกลั่นจากน้ำทะเล อีกสิบปีข้างหน้าก็หวังจะเพิ่มให้เป็น 90% นอกจากนี้เรายังนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในภาคเกษตร เป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านรียูสน้ำ (การนำน้ำมาใช้ใหม่) สิ่งที่เราทำถือว่าช่วยโลกโดยรวมไม่ใช่แค่ในอิสราเอลเท่านั้น