รู้จัก 2 สื่อมวลชนจากรัสเซียและฟิลิปปินส์ ผู้คว้า "โนเบล" สาขาสันติภาพ 2021
ปีแรกในรอบ 86 ปี ที่นักข่าวได้รับรางวัล "โนเบล" สาขาสันติภาพ เพราะอะไรที่ทำให้ "มาเรีย เรสซา" และ "ดิมิทรี มูราทอฟ" 2 สื่อมวลชนได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนไปหาคำตอบพร้อมกัน
แม้ว่า เกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยวัย 16 ปี ‘ผู้ตั้งคำถามว่าเราสนใจปัญหาเกี่ยวกับโลกร้อนกันพอหรือยัง’ จะเป็นตัวเต็งที่สำนักข่าวต่างๆ ลงความเห็นว่าเธออาจจะได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพปี 2564 นี้
แต่จากผลประกาศของคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ เจ้าของรางวัลในปีนี้คือ 2 สื่อมวลชน ได้แก่ “มาเรีย เรสซา (Maria Ressa)” จากฟิลิปปินส์ และ “ดิมิทรี มูราทอฟ (Dmitry Muratov)” จากรัสเซีย
เบริต รีสส์ แอนเดอร์สัน ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ กล่าวว่า "วารสารศาสตร์ที่เสรี เป็นอิสระ และอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ทำหน้าที่ป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ การโกหกหลอกลวง และสงครามโฆษณาชวนเชื่อ”
นี่เป็นปีแรกที่นักข่าวได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ในรอบ 86 ปี หลังจากคาร์ล วอน ออสซีตสกี ชาวเยอรมัน ผู้เปิดโปงโครงการติดอาวุธหลังสงครามของเยอรมนีเคยได้รางวัลในปี 2478
เพราะอะไรที่ทำให้ มาเรีย เรสซา และ ดิมิทรี มูราทอฟ ผู้ทำงานในสายสื่อมวลชนได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนไปหาคำตอบพร้อมกัน
- ดิมิทรี มูราทอฟ บก. “โนวายา กาเซตา” นสพ. ที่ท้าทาย “ปูติน”
ดิมิทรี มูราทอฟ ชื่อเต็มคือ Dmitry Andreyevich Muratov ชายชาวรัสเซีย อายุ 60 ปี เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าบรรณาธิการของ “โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta)” หนังสือพิมพ์อิสระรายใหญ่ในรัสเซีย ที่เน้นการนำเสนอข่าวสืบสวน และเจาะเชิงลึก ตั้งแต่ปี 2536
การทำงานของ มูราทอฟ และหนังสือพิมพ์ โนวายา กาเซตา ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเป็นประจำ และรายงานข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของรัฐบาลในประเทศอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การทุจริต ความรุนแรงของตำรวจ การจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การฉ้อโกงในการเลือกตั้ง และ "โรงงานโทรลล์" ไปจนถึงการใช้กองกำลังทหารของรัสเซียทั้งในและนอกรัสเซีย
เส้นทางของหนังสือพิมพ์ โนวายา กาเซตา ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะการอยู่ภายใต้อุ้งมือหมีของ "ปูติน" และรัฐบาลอำนาจนิยม มีรายงานจากคณะกรรมการคุ้มครองนักข่าว (Committee to Protect Journalist) ระบุว่า นักข่าวของโนวายา กาเซตา 6 คนถูกสังหารในหน้าที่
เพราะนอกจากจะนำเสนอข่าวสืบสวนในรัฐบาลรัสเซียแล้ว ทางกองบรรณาธิการยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกของสื่อด้วย เพื่อบอกกับรัฐบาลว่า สื่อทำหน้าที่รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ลำโพงกระจายข่าวของรัฐบาลแต่อย่างใด
โดยรัสเซียถูกจัดว่ามีอันดับของเสรีภาพสื่อในอันดับที่ 150 จาก 180 ประเทศ
“แม้จะมีการสังหารและการข่มขู่ แต่มูราทอฟ หัวหน้าบรรณาธิการก็ปฏิเสธที่จะละทิ้งนโยบายถึงการเปิดโปงรัฐบาลของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้” นี่คือคำพูดบางช่วงบางตอนของคณะกรรมการโนเบล ที่กล่าวประกาศเหตุผลที่ ดิมิทรี มูราทอฟ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ
โดย ดิมิทรี มูราทอฟ ให้สัมภาษณ์หลังจากขึ้นรับรางวัลว่า “ขออุทิศรางวัลนี้แก่นักข่าวที่เสียชีวิตจากการรายงานข่าว”
- “มาเรีย เรสซา” เจ้าของสื่อออนไลน์ “แรปเปลอร์” เปิดโปงความไร้สิทธิมนุษยชนของการจับกุมยาเสพติด
อีกหนึ่งคนที่เป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพร่วมกันกับ ดิมิทรี มูราทอฟ คือ มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) นักข่าวอายุ 58 ปี จากประเทศฟิลิปปินส์
มาเรีย เป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรข่าวออนไลน์ แรปเปลอร์ (Rappler) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยทำหน้าที่สื่อมวลชน และใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเปิดเผยการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้ความรุนแรง และลัทธิเผด็จการที่เพิ่มขึ้นในฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีการจัดอันดับในการ "จำกัดเสรีภาพสื่อ" เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะในรัฐบาลของ ดีโรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Roa Duterte) ที่รับตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2559 โดยประเด็นอ่อนไหวที่สุดของรัฐบาลคือการปราบปรามขบวนยาเสพติดที่มีความรุนแรง และไร้ซึ่งหลักมนุษยชน
มาเรีย และสำนักข่าว แรปเปลอร์ ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับขบวนการปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล ดีโรดริโก อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลยื่นฟ้องมาเรีย และสำนักข่าวในหลายคดี
โดยคดีล่าสุด มาเรีย ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานหมิ่นประมาททางไซเบอร์เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2563) โดยทางโฆษกรัฐบาลแถลงว่า การฟ้องร้อง มาเรีย เรสซา ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเสรีภาพสื่อ
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่ มาเรีย เรสซา ได้รับนั้น หวังว่านานาประเทศจะหันมาตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อในฟิลิปินส์
ก่อนที่ มาเรีย เรสซา จะได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เธอเคยถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลแห่งปี 2562 ด้านผู้พิทักษ์เสรีภาพสื่อ โดยนิตยสาร TIME
-----------------------------
อ้างอิง :