รู้จัก "เดลตาพลัส" AY.4.2 กรณีศึกษาในอังกฤษ หลังพบในไทยรายแรก
ทำความรู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "เดลตาพลัส" AY.4.2 หลังไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก มีลักษณะอย่างไร รุนแรงถึงขั้นน่ากังวลหรือไม่
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเจอผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย "เดลตาพลัส" AY.4.2 แล้ว 1 ราย และยังไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างจับตามองและหารายละเอียด ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ยกระดับ
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรณีสายพันธุ์ AY.4.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลตา โดยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นรองสหรัฐประเทศเดียว และพบสายพันธุ์นี้ 6% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวมของอังกฤษ ซึ่งเดลตาเดิมยังเป็นสายพันธุ์หลัก
นพ.เฉวตสรร เสริมว่า สายพันธุ์ย่อยนี้อยู่ในช่วงจับตามอง แต่ยังไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องความรุนแรงกว่าปกติ หรือมีโอกาสดื้อยา ดื้อวัคซีนหรือไม่ อยู่ระหว่างจับตามองและหารายละเอียด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา และเดลตาที่ผ่านมา ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วชัดเจน จะเห็นลูกคลื่นการระบาดที่เร็วและแรงมาก
"ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมองว่า กรณีในอังกฤษ เป็นการให้ความสำคัญของรัฐบาลในการจับตามองสายพันธุ์เดลตาพลัสนี้ ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังไม่ได้ยกระดับการเฝ้าระวัง"
จากรายงานล่าสุดของผู้ติดเชื้อโควิด เดลตาพลัสรายแรกในไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความรู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "เดลตาพลัส" AY.4.2 จากกรณีศึกษาในอังกฤษที่พบสายพันธุ์ย่อยนี้กำลังระบาดอยู่ ว่ามีลักษณะอย่างไร รุนแรงถึงขั้นน่ากังวลหรือไม่
- คุณสมบัติสายพันธุ์ AY.4.2
ข้อมูลจาก BBC ระบุว่า อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไวรัสทุกชนิดกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และในกรณีของเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์หลายพันสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก ปรากฏการณ์นี้จึงไม่น่าแปลกใจอะไร
สายพันธุ์เดลตาถูกจัดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่ในเดือน ก.ค. ผู้เชี่ยวชาญจะพบสายพันธุ์ AY.4.2
จากนั้น โควิดสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากเดลตาก็ค่อย ๆ แพร่ระบาดอย่างช้า ๆ มีการกลายพันธุ์ซึ่งส่งผลต่อโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนาม (spike protein) ซึ่งเชื้อไวรัสใช้ในการเข้าไปยังเซลล์ของร่างกายคนเรา
แม้จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดได้ง่ายกว่า แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาอยู่
ศาสตราจารย์ฟรองซัว บาลูซ์ จากสถาบันพันธุศาสตร์ ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์ AY.4.2 จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า แต่ก็ไม่มาก
"มีความเป็นไปได้ว่าจะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า 10%" ศาสตราจารย์บาลูซ์ กล่าว โดยบอกว่า เทียบไม่ได้กับสายพันธุ์อย่างอัลฟาและเดลตา ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าถึง 50-60%
- ไม่แรงพอจะเปลี่ยนสถานการณ์โควิด
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ดร.แอนดรูว์ โพลลาร์ด หัวหน้ากลุ่ม Oxford Vaccine Group กล่าวว่า เดลตาพลัส (Delta Plus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนไป
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้ติดเชื้อเดลตาพลัสหรือที่เรียกว่าสายพันธุ์ AY.4.2 ในอังกฤษเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็น 6% ของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องได้รับสอบสวนหรือเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
ประเด็นดังกล่าว ดร.โพลลาร์ด ให้ความเห็นกับสถานีบีบีซี เรดิโอ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ว่า เมื่อมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ แน่นอนว่าก็ควรเฝ้าระวัง แต่ก็ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าสายพันธุ์ใหม่นั้นจะมาแทนที่เดลตา
"ต่อให้สายพันธุ์ใหม่นี้เข้ามาแทนที่จริง ๆ เดลตาก็แพร่กระจายในกลุ่มประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วได้ดีมาก และสายพันธุ์ใหม่อาจจะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าเล็กน้อย แต่ก็ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด"
ความเห็นดังกล่าวเปิดเผยออกมา ขณะที่ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (NHS) ใกล้ถึงขีดจำกัดในหลายพื้นที่ ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
- ในไทยยังไม่น่ากังวล
สำหรับประเทศไทย นพ.เฉวตสรร ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า สธ.มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์และสายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและเมื่อตรวจสอบดูพบรายงานของเดลตาพลัสเพียง 1 ราย และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 49 ปี ประวัติทำงานที่บางไทร จ.อยุธยา ซึ่งมีการส่งตัวอย่างที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร กองทัพบก (AFRIMS) พบสายพันธุ์ AY.4.2 เป็นการตรวจพบตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยได้รักษาหายแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจรายอื่น ๆ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายนี้ อีกทั้งสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ ยังไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น และประวัติรายนี้ไม่พบว่ามีการเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือไปต่างประเทศ
"อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลของสายพันธุ์นี้ ที่คาดการณ์น่าจะมีการติดเชื้อที่ง่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดลตาเดิม โดยในวันที่ 26 ต.ค. 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแถลงเป็นทางการอีกครั้ง" นพ.เฉวตสรร ระบุ