ผ่างบ 102 ล้านดอลล์ "สหรัฐ" ช่วยเหลือ "อาเซียน" ใช้ทำอะไรบ้าง
ทำเนียบขาว ยืนยัน "โจ ไบเดน" ผู้นำสหรัฐ ทุ่มเงิน 102 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือ "อาเซียน" ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญ ขณะเตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ผ่านระบบการประชุมทางไกลคืนนี้ (26 ต.ค.) ไปดูกันว่าเงินก้อนนี้จะถูกใช้ด้านไหนบ้าง
วันนี้ (26 ต.ค.) เว็บไซต์ทำเนียบขาวของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะประกาศมอบเงินมากถึง 102 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,377 ล้านบาท) เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของภูมิภาคในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางในวิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรีของสหรัฐ
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่มีกำหนดจัดขึ้นเวลา 20.00 น.วันนี้ตามเวลาไทย จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่สหรัฐเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐยังคงต้องการมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เข้าร่วมการประชุมในปี 2560 ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ แต่หลังจากนั้นก็ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมถึง 3 ปีติดต่อกัน จนทำให้จีนสามารถแผ่อิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว
แถลงการณ์ทำเนียบขาวระบุว่า ในจำนวนเงินสนับสนุนอาเซียน 102 ล้านดอลลาร์ มีจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้ในด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการศึกษาในภูมิภาค
40 ล้านดอลลาร์ในจำนวนนี้ จะถูกนำไปใช้ในการวิจัยเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในระบบสาธารณสุข รวมถึงรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน
ทำเนียบขาวเปิดเผยด้วยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐได้มอบเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขให้อาเซียนไปแล้วกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์
นอกจากงบด้านสาธารณสุขแล้ว ยังมีงบสำหรับการรับมือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ที่จัดสรรไว้ 20.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับการบรรลุเป้าหมายระดับโลก ที่ต้องการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยจะนำไปใช้ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการลดมลพิษในอากาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในภูมิภาค
ขณะที่งบส่วนที่เหลือ จะเป็นการจัดสรรให้ด้านการค้าและนวัตกรรม 20 ล้านดอลลาร์ โครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา 16 ล้านดอลลาร์ การฝึกครูสอนภาษาอังกฤษ 1.5 ล้านดอลลาร์ และส่งเสริมด้านความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศอีก 4 ล้านดอลลาร์
บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า ผู้นำอาเซียนต่างจับตาดูแถลงการณ์ของนายไบเดนเกี่ยวกับแผนการด้านการค้า การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งแผนการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่อาเซียน
นอกจากนี้ คาดว่าผู้นำสหรัฐจะสร้างความมั่นใจต่ออาเซียนว่า กลุ่มพันธมิตร Quad ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย รวมทั้งการที่สหรัฐทำข้อตกลงจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะมาแทนที่บทบาทของอาเซียนในภูมิภาค
ก่อนหน้านี้ นายเอ็ดการ์ด คาแกน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกและโอเชียเนียของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐไม่ได้มองว่ากลุ่ม Quad เป็น "นาโตแห่งเอเชีย" และไม่มีเจตนาแข่งขันกับอาเซียน
"สหรัฐมีความสนใจที่จะร่วมมือกับอาเซียนด้านห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรับมือกับความท้าทายร่วมกันทางทะเล ซึ่งบ่งชี้ถึงการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้" นายคาแกน กล่าว