อินโดนีเซียคุยฟ็อกซ์คอนน์ตั้งรง.ผลิตรถไฟฟ้า-แบตเตอรี
อินโดนีเซียและฟ็อกซ์คอนน์ หารือเกี่ยวกับแผนลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตแบตเตอรีรถไฟฟ้า โดยรัฐบาลอินโดนีเซียยืนยันว่ามีแผนผลิตรถไฟฟ้ากับบริษัทไต้หวัน ขณะที่ฟ็อกซ์คอนน์ยอมรับว่าคุยกันจริงแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
การเจรจาครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ต้องการผลักดันประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก
โดยคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย (บีเคพีเอ็ม)เผยแพร่รายละเอียดการหารือกันระหว่างประธานคณะกรรมการฯ“บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย” กับ“ยัง หลิว”ประธานฟ็อกซ์คอนน์ และโฮเรซ ลุค ผู้ก่อตั้งโกโกโร บริษัทให้บริการระบบแลกเปลี่ยนแบตเตอรี และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าชั้นนำสัญชาติไต้หวัน
บีเคพีเอ็ม อ้างคำพูดของหลิว ที่บอกว่า “ฟ็อกซ์คอนน์มีแผนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีและผลิตรถไฟฟ้าในอินโดนีเซียและไม่ใช่แค่ตั้งโรงงานประกอบรถแต่เป็นการตั้งอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าครบวงจรในประเทศนี้”
ด้านฟ็อกซ์คอนน์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์(23ต.ค.)ยืนยันว่าได้หารือกับทางการอินโดนีเซียจริงเกี่ยวกับแผนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรีสำหรับรถไฟฟ้า
ซึ่งประธานบีเคพีเอ็มเสนอมาตรการจูงใจหลายอย่างที่จะสนับสนุนบริษัทไต้หวันลงทุนในอินโดนีเซียแต่ในเวลาต่อมา ฟ็อกซ์คอนน์ ออกแถลงการณ์ย้ำว่าการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ
ข่าวการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียมีขึ้นในช่วงที่ฟ็อกซ์คอนน์ เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเปลี่ยนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่ถือเป็นธุรกิจใหม่ให้กลายเป็นธุรกิจทำเงินให้บริษัท 35,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 5 ปี
ตอนนี้บริษัทได้สร้างโรงงานผลิตในประเทศไทยร่วมกับบริษัทปตท.เพื่อให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีรถอีวีในยุโรป อินเดีย และอเมริกาเหนือ หรือไม่ก็อเมริกาใต้ ภายในปี 2567
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ฟ็อกซ์คอนน์บรรลุข้อตกลงมูลค่า 280 ล้านดอลลาร์กับลอร์ดสทาวน์ มอเตอร์ บริษัทสตาร์ทอัพรถอีวีในสหรัฐเพื่อครอบครองโรงงานผลิตรถของบริษัทในรัฐโอไฮโอ ซึ่งจะกลายเป็นฐานการผลิตรถอีวีแห่งแรกของฟ็อกซ์คอนน์ในตลาดอเมริกาเหนือ
ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นหนึ่งในบริษัทหลายแห่งที่แสดงความสนใจต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมรถอีวีของอินโดนีเซียที่ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ รวมถึงบีเอเอสเอฟ บริษัทสัญชาติเยอรมัน เทสลา ค่ายรถไฟฟ้าสัญชาติสหรัฐและซีเอทีแอล ค่ายรถยนต์สัญชาติจีน
ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทเทสลาพุ่งขึ้นกว่า 10% ในวันจันทร์(25ต.ค.) ส่งผลให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขานรับข่าวที่ว่า บริษัทเฮิร์ซ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถยนต์เช่ารายใหญ่ของโลก ได้สั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาจำนวนถึง 100,000 คัน
คำสั่งซื้อนี้ถือเป็นคำสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าล็อตใหญ่ที่สุด และจะทำรายได้ให้แก่เทสลาถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์และภายใต้ข้อตกลง เทสลาจะส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่เฮิร์ซภายในสิ้นปี 2565
ข่าวนี้ดันราคาหุ้นเทสลาดีดตัวเหนือระดับ 1,010 ดอลลาร์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้เทสลามีมูลค่าตลาดกว่า1ล้านล้านดอลลาร์ เหมือนกับแอ๊ปเปิ้ล อเมซอน และไมโครซอฟท์
ด้านฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป และแอลจี อีเนอร์ยี โซลูชัน ของเกาหลีใต้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียที่บริษัททั้งสองแห่งตั้งเป้าเดินสายการผลิตในปี 2567 และฮุนไดยังกำลังสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ใกล้ๆกับโรงงานผลิตแบตเตอรี คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ในปีหน้า
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ค่ายรถหลายแห่งสนใจลงทุนด้านรถอีวีในอินโดนีเซียเพราะอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตรถอีวี
ผลสำรวจด้านธรณีวิทยาของสหรัฐระบุว่า ในปี2563 อินโดนีเซียผลิตนิกเกิลได้ประมาณ 760,000 ตันและปัจจุบัน มีนิกเกิลสำรองในปริมาณ 21 ล้านตัน ถือว่ามีมากกว่าทุกประเทศทั่วโลก และหากมีการบริหารจัดการที่ดี อินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าจากแร่นิกเกิล เช่น แบตเตอรีลิเธียม และแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่ได้ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า