ดาวโจนส์ทะยาน 138 จุดเหตุนลท.ไม่หวั่นเฟดหั่นQE
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(2พ.ย.)ปรับตัวขึ้น 138 จุด เพราะได้แรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทที่ดีเกินคาด แม้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังการประชุมนโยบายการเงินวันนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 138.79 จุด หรือ 0.39% ปิดที่ 36,052.63 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 16.98 จุด หรือ 0.37% ปิดที่ 4,630.65 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 53.69 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 15,649.60 จุด
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในแถลงการณ์หลังการประชุมวันนี้ เฟดจะประกาศปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. ซึ่งจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565
ที่ผ่านมา เฟดทำ QE อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์/เดือน
เมื่อปี 2556 ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงอย่างหนัก หลังจากที่นายเบน เบอร์นันเก้ ซึ่งเป็นประธานเฟดในขณะนั้น ประกาศปรับลดวงเงิน QE โดยไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า ทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก และพากันเทขายหุ้นในตลาด
แต่คาดว่าการซื้อขายในตลาดจะเป็นไปอย่างราบรื่นในวันนี้ แม้ว่าเฟดประกาศปรับลดวงเงิน QE ก็ตาม เนื่องจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของนายเบอร์นันเก้ ทำให้นายพาวเวลส่งสัญญาณต่อตลาดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้นักลงทุนเตรียมพร้อมสำหรับการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษของเฟด
โดยเฟดจะกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบปกติด้วยการยุติมาตรการ QE และตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นอกจากนี้ หากเฟดสามารถเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินได้อย่างราบรื่น จะเป็นปัจจัยหนุนให้นายพาวเวลได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟดอีกสมัยหนึ่ง ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก่อนที่นายพาวเวลจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในช่วงต้นปี 2565
ขณะที่ราคาหุ้นของไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ พุ่งขึ้นเกือบ 4% ในการซื้อขายวันนี้ หลังบริษัทประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ยอดขายวัคซีนต้านโควิด-19 ในปีนี้ขึ้นอีก 7.5% สู่ระดับ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท จากเดิมที่ระดับ 3.35 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับตัวเลขคาดการณ์ยอดขายดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ไฟเซอร์สามารถลงนามในข้อตกลงกับหลายประเทศในการจำหน่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น และจากการที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆให้การอนุมัติการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ให้แก่เด็ก
ขณะนี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ได้กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของไฟเซอร์ในประวัติศาสตร์ 172 ปีของบริษัท
แต่ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับบริษัทไบออนเทค ซึ่งร่วมพัฒนาวัคซีนต้านโควิดแบบ mRNA ไฟเซอร์จะแบ่งค่าใช้จ่ายและกำไรจากการจำหน่ายวัคซีนในสัดส่วน 50-50 กับไบออนเทค
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นของบริษัทเทสลาดิ่งลง 2% ในการซื้อขายวันนี้ หลังจากที่นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลายอมรับว่า ทางบริษัทยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทเฮิร์ซเพื่อจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 100,000 คันแต่อย่างใด
"ผมขอย้ำว่ายังไม่มีการลงนามในสัญญาแต่อย่างใด โดยเรื่องข้อตกลงกับเฮิร์ซไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานะการเงินของเรา" นายมัสก์ระบุ
ราคาหุ้นของเทสลาพุ่งขึ้นกว่า 10% ในวันที่ 25 ต.ค. หลังมีข่าวว่า บริษัทเฮิร์ซ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถยนต์เช่ารายใหญ่ของโลก ได้สั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาจำนวน 100,000 คัน ส่งผลให้เทสลากลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับแอปเปิล แอมะซอน และไมโครซอฟท์
คำสั่งซื้อดังกล่าวถือเป็นคำสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่สุด และจะทำรายได้ให้แก่เทสลาถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์
ราคาหุ้นของเทสลายังได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทเรียกคืนรถยนต์จำนวนเกือบ 12,000 คันที่มีการจำหน่ายในสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากมีปัญหาของซอฟท์แวร์ซึ่งอาจทำให้ระบบเบรกฉุกเฉินทำงานผิดปกติ