เปิดแผนอินโดนีเซียลดโลกร้อนกับทูต ‘ระห์หมัด บูดีมัน’
เมื่อเอ่ยถึง “อินโดนีเซีย” ประเทศนี้มีความสำคัญในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมุสลิมใหญ่สุดของโลก ประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแหล่งป่าฝนเขตร้อนสำคัญของโลก
ในวาระที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัย 26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ยังไม่ทันจาง ระห์หมัด บูดีมัน (H.E.Mr.Rachmat Budiman ) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ถึงประเด็นสำคัญของโลกในขณะนี้
เริ่มต้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ และเร่งด่วนที่สุดที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญ ทูตบูดีมัน เผยว่า เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องจริง อินโดนีเซียจึงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาในปัจจุบันกับอนาคต และลดความยากจน
“อินโดนีเซียตระหนักถึงบทบาทของเราในการต่อสู้ปัญหาโลกร้อน เพราะมีป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งคาร์บอนสำรองสูง รวมถึงเป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากร” ทูตกล่าวพร้อมอธิบายว่า อินโดนีเซียตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า สายพานลำเลียงขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทร (The Great Ocean Conveyor Belt) หรือเรียกว่าการไหลเวียนของเทอร์โมฮาไลน์ (Thermohalinecirculation) ประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่สุดแห่งนี้มีพื้นที่รวม 7.81 ล้านตารางกิโลเมตร ผืนน้ำคิดเป็น 74.3% ของประเทศ
"อินโดนีเซียจึงเสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มเลวร้ายลงเพราะโลกร้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำทั่วทั้งหมู่เกาะ ยิ่งไปกว่านั้นอินโดนีเซียยังตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บางครั้งรุนแรงชนิดที่ต้องใช้ทรัพยากรเร่งด่วนจำนวนมหาศาลรวมถึงเพื่อการบูรณะและฟื้นฟู ส่งผลต่อขีดความสามารถของชาติในการจัดหาทรัพยากรเพื่อการปรับตัวรับโลกร้อน"
ดังนั้น อินโดนีเซียจึงมองความพยายามปรับตัว และลดโลกร้อนทั้งทางบก และทางทะเลอย่างครอบคลุม ว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทั้งในแง่อาหาร น้ำ และพลังงาน
ทูตกล่าวเสริมว่า การรับมือของรัฐบาลอินโดนีเซียก้าวหน้าไปมากในแง่ของการใช้ที่ดินที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการออกกฎหมายห้ามการทำลายป่าสมบูรณ์ ลดการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม ฟื้นฟูการทำงานของระบบนิเวศ และการจัดการป่าอย่างยั่งยืน
ความพยายามดังกล่าว รวมถึงการปลูกป่าชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของรัฐบาลท้องถิ่น ภาคเอกชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนดั้งเดิมและผู้หญิง ทั้งในขั้นวางแผนและการนำไปปฏิบัติรวมถึงแนวทางการจัดการระบบนิเวศขนาดใหญ่ การเน้นย้ำถึงบทบาทท้องถิ่น ถือเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อสร้างหลักประกันว่าโครงการริเริ่มเหล่านี้สร้างประโยชน์มากขึ้นและยาวนานยิ่งขึ้น
ถึงวันนี้ทุกประเทศต่างพูดถึงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อปี 2558 รัฐบาลจาการ์ตาเคยให้คำมั่นลดการปล่อยก๊าซ (แบบไม่มีเงื่อนไข) ลง 29% ระหว่างปี 2563-2573 เพิ่มเป็น 41% (แบบมีเงื่อนไข) ภายในปี 2573 หากสถานการณ์ปกติ เป็นการเพิ่มความมุ่งมั่นแบบไม่มีเงื่อนไขเทียบกับปี 2553 ที่ประกาศลดการปล่อยก๊าซ 26%
ทั้งนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโด สมัยแรกให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการภายใต้กรอบ
Nine Priority Agendas ได้แก่ การปกป้องพลเมืองอินโดนีเซีย ส่งเสริมการพัฒนาชนบทและภูมิภาค
ปรับปรุงคุณภาพชีวิต ปรับปรุงผลิตภาพและขีดความสามารถระดับโลก ภารกิจหลักเหล่านี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นระดับชาติสู่เส้นทางการพัฒนาคาร์บอนต่ำและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและบรรเทาผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับแรกตามแผนพัฒนาแห่งชาติระยะกลาง
ในสมัยที่ 2 รัฐบาลประธานาธิบดีวิโดโดตั้งเป้าเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงด้วยการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งไม่ได้ละเลยประเด็นสิ่งแวดล้อม การรับมือภัยธรรมชาติและผลกระทบจากโลกร้อน ทั้งยังตั้งเป้าหมายสูงขึ้นเพื่อความยั่งยืนในการผลิตและบริโภคอาหาร น้ำ และพลังงาน
ส่วนการใช้ “ถ่านหิน” พลังงานฟอสซิลเจ้าปัญหา ทูตบูดีมัน เผย " รัฐบาลส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้ใช้พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน (อีบีที) อย่างเหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายใช้พลังงานผสมผสาน 23% ภายในปี 2568 ซึ่งในปี 2564 รัฐบาลมีวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการ 4 โครงการ"
โครงการที่ 1 ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ B30 อย่างยั่งยืนด้วยการกำหนดให้ผสมไบโอดีเซล 30% กับน้ำมันดีเซล 70% แต่รัฐบาลยอมรับว่า ปี 2563 การใช้น้ำมัน B30 ลดลง 12% จากที่เคยจัดสรรไป 9.55 ล้านกิโลลิตร มาอยู่ที่ 8.4 ล้านกิโลลิตร ผลจากการระบาดของโควิด-19 ปีนี้ อินโดนีเซียตั้งเป้าใช้ไบโอดีเซลให้ถึง 9.2 ล้านกิโลลิตร อุปทานมาจากบริษัทพลังงานชีวภาพ 10 แห่ง กระจายโดย 20 บริษัท
โครงการที่ 2 ให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเผาร่วมกับถ่านหิน เป็นการใช้ชีวมวลทดแทนหรือผสมกับถ่านหินในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
โครงการที่ 3 เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพิจารณาทำเลที่ยืดหยุ่น ก่อสร้างในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีทั้งบนดาดฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำหรือในเขื่อน และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
โครงการที่ 4 ปรับโรงไฟฟ้าที่เดิมใช้พลังงานฟอสซิลโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลยังตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 905.73 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 196 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 557.93 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 138.8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวภาพ 13 เมกะวัตต์ พร้อมกับเพิ่มเป้าการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนประจำปี 2564 เป็น 2.05 พันล้านดอลลาร์ จาก 1.36 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2563
ด้านความร่วมมือลดโลกร้อนในบริบทของอาเซียน ทูตอินโดนีเซีย กล่าวว่า อาเซียนแสดงบทบาทแข็งขันและเป็นผู้นำแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประชาคมโลก การทำหน้าที่ดังกล่าวมาจากประมุขของรัฐ และรัฐบาลอาเซียนเอง ผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์ ระดับภูมิภาคเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2550, 2552, 2553, 2554 และ 2557 ในแถลงการณ์เหล่านี้ผู้นำแสดงจุดยืนร่วมของอาเซียน และมุ่งหมายหาทางออกระดับโลกแก้ปัญหาโลกร้อน รวมถึงการปฏิบัติการระดับชาติ และภูมิภาคมุ่งมั่นให้ประชาคมอาเซียนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
"รัฐบาลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้คำมั่นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้งตระหนักถึงความจำเป็นในการเคลื่อนเข้าสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาคาร์บอนต่ำ ผู้นำอาเซียนเห็นชอบแผนกำหนดเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 23% ภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2558 วาระนโยบายทั้งระดับชาติ และภูมิภาคก็จำเป็นต้องมีเรื่องควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า เราจำเป็นต้องสร้างหลักประกันว่า เป้าหมายเหล่านี้จะดำรงอยู่ในสถาบันระดับภูมิภาคอย่างอาเซียน" ทูตอินโดนีเซียย้ำ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์