"โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด" ถึงเวลารักษาโควิด-19 ด้วยยาเม็ด!
อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามียาเม็ดที่สามารถรักษาโควิด-19 ได้ หลังจากเมอร์คและไฟเซอร์ บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐประกาศผลการทดลองยาเม็ดที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันยาต้านเศร้าก็ส่งสัญญาณว่าอาจเปิดศักราชใหม่ในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ได้
ยาเหล่านี้ใช้โดยการรับประทานทันทีเมื่อพบอาการโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ซึ่งตั้งแต่โควิดกลายเป็นวิกฤติสุขภาพโลกก็มีความพยายามหายาเม็ดมารักษา หลังจากวิจัยกันมาหลายเดือนเมอร์คและไฟเซอร์ก็ประกาศว่า พวกเขาบรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่นั้นแล้ว
ต้นเดือน ต.ค. เมอร์คแถลงว่า กำลังขออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์กรณีฉุกเฉินในสหรัฐ ส่วนไฟเซอร์เพิ่งขออนุมัติใช้ยาแพกซ์โลวิดเมื่อวันศุกร์ (5 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งสองตัวเป็นยาต้านไวรัสทำงานโดยลดความสามารถในการแบ่งตัวของไวรัส ชะลอการเกิดโรค ผลการทดลองทางคลินิกของเมอร์คและไฟเซอร์ชี้ว่า ยาช่วยลดความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลได้มาก
อ่านข่าว : WHO - เอฟดีเอ “สหรัฐ” จ่ออนุมัติ "โมลนูพิราเวียร์" ใช้กรณีฉุกเฉิน เร็วนี้
คนที่รับยาโมลนูพิราเวียร์ความเสี่ยงหายไป 50% ส่วนคนที่รับยาแพกซ์โลวิดลดความเสี่ยงได้เกือบ 90% อย่างไรก็ตาม อัตราประสิทธิภาพของยาทั้งสองตัวจะมาเปรียบเทียบกันตรงๆ แบบนี้ไม่ได้เพราะใช้ระเบียบวิธีศึกษาแตกต่างกัน
ส่วนยาต้านเศร้า “ฟลูโวซามีน” ที่มีใช้กันอยู่แล้วผลการศึกษาของคณะนักวิจัยบราซิล เผยแพร่ในวารสารแลนเซ็ตโกลบอลเฮลธ์เมื่อเดือน ต.ค.ก็ส่งสัญญาณน่าสนใจในการป้องกันอาการรุนแรงของโควิด-19
หากประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ได้รับการยืนยัน จะถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการต่อสู้โควิด-19 และอาจช่วยเพิ่มคลังแสงโลกสู้ไวรัสเสริมจากวัคซีนได้
ปัจจุบันแม้มีวิธีการรักษาโควิดก็จริง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแอนติบอดีสังเคราะห์ ที่มักใช้กับคนที่เจ็บป่วยรุนแรงแล้วด้วยวิธีฉีดจึงใช้ยาก หากมียาเม็ดรับประทานย่อมสั่งยาให้คนไข้นำไปรับประทานที่บ้านได้ง่ายกว่า ยาของเมอร์คและไฟเซอร์ที่ถึงขณะนี้ยังไม่พบผลข้างเคียง ใช้ประมาณ 10 โดส เป็นเวลา 5 วัน
“ความสำเร็จของยาต้านไวรัสเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดยุคใหม่ในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อ SARS-CoV2” สตีเฟน กริฟฟิน นักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษเผยกับศูนย์สื่อวิทยาศาสตร์
หากถามถึงข้อจำกัด ถึงขณะนี้ยังประเมินความเหมาะสมจากยาของเมอร์คและไฟเซอร์ได้ยาก เนื่องจากทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์ของตนเองโดยที่ยังไม่เผยแพร่ผลการทดลองทางคลินิก
คารีน ลาคอมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชาวฝรั่งเศส เคยเตือนเมื่อเดือน ก.ย.ว่า ต้องระวังกับคำประกาศแบบนี้จนกว่าจะตรวจสอบผลการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เพราะถ้ามียารักษาโควิดย่อมหมายถึงโอกาสทางการตลาดอันมหาศาลของบริษัทยา
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบบางอย่างชี้ว่าเมอร์คและไฟเซอร์ไม่ได้ให้สัญญาลมๆ แล้งๆ ตัวอย่างเช่น ทั้งสองบริษัทหยุดการทดลองทางคลินิกเร็วเกินคาดเพราะได้ผลน่าพอใจเป็นอย่างยิ่งชนิดที่คณะกรรมการตรวจสอบอิสระเห็นชอบด้วย
ที่มีข้อกังวลคือยาฟลูโวซามีน แม้มีข้อมูลพร้อมแต่ก็มีเสียงติติงตามมา นักวิจัยหลายคนโอดครวญว่า คณะผู้เขียนรายงานจำกัดตนเองไม่ประเมินความถี่ในการเข้าโรงพยาบาล และไม่ได้ประเมินความถี่การเข้าพักในห้องฉุกเฉินเป็นเวลานานด้วยเหตุนี้จึงตีความข้อมูลได้ยาก
ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขสหราชอาณาจักรไปตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. ให้ใช้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการโควิดรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ คนน้ำหนักเกิน หรือคนที่เป็นเบาหวาน ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐและสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน สำนักงานแพทย์ยุโรปให้คำมั่นเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ว่า จะเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นแต่ไม่บอกวันที่ชี้ชัด
ถึงขณะนี้หลายประเทศสั่งซื้อโมลนูพิราเวียร์ไปเรียบร้อยแล้ว เช่น สหรัฐสั่งซื้อ 1.7 ล้านชุด ในราคา 1,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 700 ดอลลาร์ต่อชุดรับประทาน 5 วัน
สำหรับไฟเซอร์แม้ยังไม่ได้กำหนดราคายาแพกซ์โลวิด แต่บริษัทให้คำมั่นว่าจะเป็นยาที่ “เข้าถึงได้” ใช้วิธีกำหนดระดับราคาตามฐานรายได้ประเทศผู้ซื้อ