บังคับฉีดวัคซีนชนวนขัดแย้ง-ท้าทายคนทั่วโลก

บังคับฉีดวัคซีนชนวนขัดแย้ง-ท้าทายคนทั่วโลก

บังคับฉีดวัคซีนชนวนขัดแย้ง-ท้าทายคนทั่วโลก ขณะที่มีอย่างน้อย 27 รัฐในสหรัฐ รวมถึงเคนทักกี โอกลาโฮมา และเวสต์ เวอร์จิเนียยื่นฟ้องต่อศาลเพราะเห็นว่าข้อบังคับของไบเดนละเมิดรัฐธรรมนูญ

การ“บังคับฉีดวัคซีน”ของหลายประเทศในขณะนี้ กำลังเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านมาตรการนี้ของรัฐของชาวนิวซีแลนด์หลายพันคนบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา จนทำให้ทางการต้องสั่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพราะกลัวว่าการชุมนุมจะบานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรง

รัฐบาลนิวซีแลนด์สั่งปิดทางเข้าเกือบทั้งหมดยกเว้น 2 ทางของอาคารรัฐสภานิวซีแลนด์ พร้อมทั้งยกระดับการตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองเวลลิงตัน และชุมนุมกันอยู่ที่ด้านนอกของอาคารรัฐสภา

แม้ว่าการประท้วงครั้งนี้ดำเนินไปด้วยความสงบ แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากถือป้ายที่เขียนข้อความต่าง ๆ เช่น "เสรีภาพ" และ "ชาวนิวซีแลนด์ไม่ใช่หนูทอดลอง พร้อมกับตะโกนสโลแกนต่าง ๆระหว่างที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการบังคับฉีดวัคซีน และยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด

นิวซีแลนด์เผชิญกับความยากลำบากในการต่อสู้กับระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในปีนี้ ซึ่งกดดันให้นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ต้องปรับกลยุทธ์จากการกำจัดโควิด-19 ผ่านการล็อกดาวน์ไปเป็นการอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคนี้โดยเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

อาร์เดิร์น ประกาศข้อกำหนดเมื่อเดือนที่แล้วว่าบรรดาครู พนักงานของหน่วยงานด้านสาธารสุขและด้านการดูแลคนพิการ ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบโดส พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติมาตรการที่เข้มงวด หาก 90% ของจำนวนประชากรในประเทศได้รับการฉีดวัคซีน แต่ข้อกำหนดดังกล่าวสูงกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ และส่งผลให้ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้เสรีภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการบังคับฉีดวัคซีนยังถูกต่อต้านจากบรรดาผู้ที่ต้องกลับเข้าทำงานแต่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนจำนวนมากด้วย

การชุมนุมประท้วงมาตรการบังคับฉีดวัคซีนในนิวซีแลนด์เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประท้วงเรื่องนี้ในหลายรัฐของสหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำหนดให้ธุรกิจสหรัฐที่มีคนทำงานมากกว่า 100 คนต้องบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับวัคซีนโควิด-19

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ศาลอุทธรณ์เขต 5 ของรัฐบาลกลางสหรัฐ มีคำพิพากษาฉุกเฉินระงับคำสั่งของประธานาธิบดีไบเดนเป็นการชั่วคราว โดยอัยการให้เหตุผลว่า มาตรการบังคับฉีดวัคซีนของผู้นำสหรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ควรใช้มาตรการบังคับด้านสุขภาพและการแพทย์ต่อชาวอเมริกัน โดยไม่คำนึงถึงหลักการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงแรงงานสหรัฐ ออกแถลงการณ์ยืนยันตามมาในเกือบจะทันทีว่า ประธานาธิบดีไบเดนมีอำนาจทางกฎหมาย ในการประกาศมาตรการเหล่านี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และเพื่อเอาชนะโรคโควิด-19 รัฐบาลวอชิงตันยึดมั่นต่อแนวทางนี้ และพร้อมชี้แจงต่อศาล

เช่นเดียวกับ “วิเวก เมอร์ที”เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของสหรัฐ มีความเห็นว่าการตัดสินใจเรื่องนี้มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์และรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพในสถานที่ทำงาน

แต่ “รอน เดอแซนทิส” ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาจากพรรครีพับลิกัน กลับเห็นว่า คนทั่วไปไม่ต้องการให้บุคคลอื่นหรือรัฐบาลกลางมาตัดสินใจเรื่องนี้แทนตนเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความเชื่อและผลลัพธ์ของกระบวนการโต้แย้งในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือตอนนี้มีหลายรัฐในสหรัฐกำหนดให้ประชาชนต้องเข้ารับวัคซีนโควิด-19 แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่สามารถขอยกเว้นได้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพและกลุ่มที่อ้างความเชื่อทางศาสนา

อย่างกรณีรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ตอนนี้้อนุญาตให้ประชาชนขอไม่รับวัคซีน โควิด-19 ได้ด้วยเหตุผลความเชื่อทางศาสนา โดยแพทย์หญิง “โมนิกา คานธี”ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ อธิบายว่าการขอยกเว้นเรื่องนี้จะต้องเข้าตามเกณฑ์สองอย่างคือความเชื่ออย่างจริงใจของบุคคลดังกล่าว หรือของศาสนานั้น และสองคือผู้นำทางศาสนาในชุมชนจะต้องสนับสนุนเหตุผลเรื่องนี้และออกเอกสารยืนยันรับรองสำหรับบุคคลดังกล่าวให้กับทางการ

“ดอริต รีส” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ข้ออ้างทางศาสนาเพื่อไม่รับการฉีดวัคซีนว่า วัคซีนโควิด-19 มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เซลล์ตัวอ่อนที่ได้จากการทำแท้ง โดยเฉพาะวัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน(เจแอนด์เจ)ใช้เซลล์จากตัวอ่อนในกระบวนการผลิต ส่วนวัคซีนประเภท mRNA แม้ไม่ได้ใช้เซลล์ตัวอ่อน แต่ในการทดสอบวัคซีนก็มีการใช้เซลล์จากตัวอ่อน ซึ่งทำให้เกิดการคัดค้านในกลุ่มผู้มีความเชื่อทางศาสนาบางกลุ่ม

ขณะนี้มีอย่างน้อย 27 รัฐที่รวมถึงเคนทักกี โอกลาโฮมา และเวสต์ เวอร์จิเนียที่ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับฉีดวัคซีนของรัฐบาลกลางที่พวกเขามองว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ

ส่วนภาคเอกชนหลายกลุ่มธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมากก็พยายามต่อต้านข้อกำหนดนี้ของไบเดน รวมถึงสมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ(เอ็นอาร์เอฟ)ที่ระบุว่าข้อกำหนดนี้สร้างภาระให้แก่อุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงเวลาสำคัญคือช่วงช็อปปิ้งปลายปีต่อต้นปี