กองทัพยูนิคอร์น "ญี่ปุ่น" ปลุกสตาร์ทอัพไทย สู่ธุรกิจยั่งยืน

กองทัพยูนิคอร์น "ญี่ปุ่น" ปลุกสตาร์ทอัพไทย สู่ธุรกิจยั่งยืน

เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล มาคู่กับโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเร่งปรับตัวไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อย และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สตาร์ทอัพไทย ต้องมองหาโอกาสเพื่อก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) จัดงาน Rock Thailand ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “รักษ์โลก สู่สังคมที่ยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นเวทีสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในมิติใหม่ระหว่างญี่ปุ่นและไทย มุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ของญี่ปุ่นให้มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย

"นะชิดะ คาสุยะ" เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ร็อคไทยแลนด์เป็นเวทีแนะนำสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่นให้กระชับความสัมพันธ์กับไทย ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 นำเสนอสตาร์ทอัพญี่ปุ่น 6 บริษัทที่กำลังบุกเบิกระบบเศรษฐกิจสีเขียวให้เติบโตไปข้างหน้า 

ความเป็นดิจิทัล และความหลากหลายของค่านิยมในศตวรรษที่ 21 กำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเปลี่ยนเกมในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งญี่ปุ่นในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มองว่ากำลังเผชิญกับสองสิ่งคือ

1. "การร่วมสร้างสรรค์" ซึ่งญี่ปุ่นและไทยจะร่วมกันสร้างคุณค่าและนวัตกรรมใหม่ร่วมกัน

"ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย ถูกพัฒนาบนพื้นฐานความมั่งคั่งในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งใจจะส่งเสริมและแบ่งปันภูมิปัญญาร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมมุ่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้น เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความเท่าเทียมในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ" เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น กล่าว

คาสุยะ มองว่า ความร่วมมือนี้จะเพิ่มศักยภาพทางการตลาดระหว่างธุรกิจไทย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นซัพพลายเชนใหญ่ระดับโลก กับสตาร์ทอัพญี่ปุ่น ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้คาดหวังต่อโอกาสการพัฒนาธุรกิจ ไม่เฉพาะตลาดในประเทศไทย แต่ยังขยายไปยังภูมิภาคอาเซียน

 

กองทัพยูนิคอร์น \"ญี่ปุ่น\" ปลุกสตาร์ทอัพไทย สู่ธุรกิจยั่งยืน

2.การเสริมสร้างความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการจัดตั้งกองทุน 2 ล้านล้านเยน เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการลดคาร์บอนในภาคธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนกิจการในต่างประเทศ 
 

ดังจะเห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นเริ่มมีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีการลงทุนและสินทรัพย์ในภาคอุตสาหกรรม ก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีแนวโน้มการลงทุนมากที่สุดด้วยเช่นกัน 

คาสุยะ กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เป็นการตอบสนองต่อแรงขับเคลื่อนนี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ และเป็นเรือธงใหม่ให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย ที่สำคัญ มีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับ “กลยุทธ์การเติบโตสีเขียว” ของญี่ปุ่น ทั้งยังเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศจะช่วยขับเคลื่อนโอกาสทางธุรกิจที่กำลังขยายตัวได้ดี

"ศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เวทีนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสเชื่อมต่อทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลของญี่ปุ่นมาเติมเต็มให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมของญี่ปุ่น ในการปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจรักษ์โลก และนำพาสังคมไทยสู่ความยั่งยืน 

"เวที Rock Thailand  ครั้งที่ 3 จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยพลิกโฉมประเทศไทยให้มีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ให้กับระบบเศรษฐกิจในอาเซียน" ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าว 

 

กองทัพยูนิคอร์น \"ญี่ปุ่น\" ปลุกสตาร์ทอัพไทย สู่ธุรกิจยั่งยืน

 

"อัทสึชิ ทาเคทานิ" ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า เจโทรเล็งเห็นถึงโอกาสในการก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ระหว่างสตาร์ทอัพญี่ปุ่นและภาคเอกชนไทยในอนาคต ทำให้มีไอเดียนำไปสู่ความร่วมมือกับบริษัทไทยหลายแห่งที่ต้องการสร้างเครือข่ายกับบริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นอย่าง ซี.พี.กรุ๊ป รวมถึงหน่วยงานไทยอื่นๆ โดยหวังให้เป็นแนวทางต่อยอดให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆ ในยุคที่ประเทศทั่วโลกมุ่งลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกด้วย

ในส่วนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของญี่ปุ่นที่ร่วมนำเสนอเทคโนโลยีนวัตกรรมสีเขียวได้แก่

1.แอคไบโอดี บริษัทสตาร์อัพที่มุ่งพัฒนาแบตเตอรี AC แบบสแตนด์อโลนเครื่องแรกของโลก และวงจรไฟฟ้าแบบพิเศษสำหรับการเคลื่อนย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บพลังงาน โดยได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว ทำให้ได้ความจุที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับระบบทั่วไป 

ทั้งนี้ แบตเตอรี่ AC เป็นวิวัฒนาการใหม่ในการจัดเก็บแบตเตอรี โดยเฉพาะแบตเตอรีที่เชื่อมต่อเครื่องผลิตพลังงานแสงอาทิตย์

2.เอปซิลอน สตาร์ทอัพด้านมวิศวกรรมที่มอบโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพ ในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมในโรงงานเคมี โดยขณะนี้มีวิศวกรจากบริษัทวิศวกรรมของญี่ปุ่นชั้นนำเข้าร่วม เช่น JGC, CHIYODA และ TEC

3.โพลาร์สตาร์สเปซ เกิดจากความร่วมมือทางเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น 3 แห่ง เพื่อให้บริการแก้ปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลด้านการเกษตร การประมง ทรัพยากรและพลังงาน และการป้องกันภัยพิบัติ

4.รีจินอล ฟิซ สตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญการตัดต่อยีน เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลาสำหรับการบริโภค และให้ผลผลิตอย่างรวดเร็ว เช่น การพัฒนาพันธุกรรมปลาปักเป้าเสือโคร่ง และปลากระพงให้โตเร็วขึ้น ไปพร้อมๆกับได้เนื้อปลาที่มีคุณภาพดีขึ้น

5.ยูกลีนา เป็นบริษัทร่วมทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกสาหร่ายในพื้นที่กลางแจ้งจำนวนมาก

6.อาร์อีเอสซี เป็นสตาร์ทอัพให้บริการเพื่อเมืองอัจฉริยะ มุ่งพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนมากขึ้น โดยใช้แพลตฟอร์มแบตเตอรี่ที่เป็นอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง สำหรับยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า และสมาร์ทกริด

 

กองทัพยูนิคอร์น \"ญี่ปุ่น\" ปลุกสตาร์ทอัพไทย สู่ธุรกิจยั่งยืน