ผ่าแผน "เชลล์" ย้ายฐานไปลอนดอน ใครได้ ใครเสีย?
เมื่อ "เชลล์" (Shell) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เก่าแก่ ประกาศแผนย้ายสำนักงานใหญ่และผู้บริหารจากเนเธอร์แลนด์ไปลอนดอน พร้อมเตรียมเลิกใช้ชื่อ "Royal Dutch" (รอยัล ดัตช์) ที่ใช้มานานกว่า 100 ปี ใครได้ ใครเสีย?
ช่วงเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา “รอยัล ดัตช์ เชลล์” (Royal Dutch Shell) บริษัทพลังงานระดับโลก เป็นองค์กรที่เป็น “สัญลักษณ์” ในเนเธอร์แลนด์ ทำให้การตัดสินใจเตรียมย้ายประเทศไปสหราชอาณาจักรของยักษ์ใหญ่รายนี้ อาจเป็นเรื่องที่เจ็บปวดไม่น้อยสำหรับรัฐบาลดัตช์
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่าสำหรับเนเธอร์แลนด์คือ บริษัทรายใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างเชลล์ กลับต้องการเดินตามรอย “ยูนิลีเวอร์” (Unilever) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจคอนซูเมอร์ ด้วยการย้ายสำนักงานใหญ่และผู้บริหารไปกรุงลอนดอนอีกราย ทั้งที่เนเธอร์แลนด์หวังว่า “เบร็กซิท” (Brexit) หรือการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเองก็ตาม
จากคำประกาศล่าสุดในสัปดาห์นี้ของเชลล์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า อะไรเป็นปัจจัยให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติรายนี้ตัดสินใจย้ายบ้านออกจากเนเธอร์แลนด์ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์มากน้อยเพียงใด
- บริษัทเก่าแก่กว่า 130 ปี
บริษัทรอยัล ดัตช์ ปิโตรเลียม หรือชื่อภาษาดัตช์ว่า Koninklijke Nederlandsche Petroleum Maatschappij ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2433 เพื่อสำรวจน้ำมันในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ และกลายเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน
ต่อมาในเดือน เม.ย. 2450 บริษัทดังกล่าวได้ควบรวมกิจการกับบริษัทเชลล์ ทรานส์พอร์ต แอนด์ เทรดดิง ของอังกฤษ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งหลักของตนในขณะนั้นคือ “สแตนดาร์ด ออยล์” (Standard Oil) ของสหรัฐ
สำหรับที่มาของชื่อและโลโก้ “Shell” ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนั้น มาจากเปลือกหอยที่ถูกนำเข้ามาในยุคศตวรรษที่ 19 โดยบิดาของมาร์คัสและซามูเอล ซามูเอล สองพี่น้องที่ร่วมก่อตั้งบริษัทเชลล์ ทรานส์พอร์ต แอนด์ เทรดดิง
ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยมีประเด็นอ่อนไหวระดับชาติพอสมควรในยุคนั้น บริษัทจึงจดทะเบียนร่วม 2 สัญชาติคือ อังกฤษและดัตช์ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างสองประเทศ ซึ่งแทบไม่ต่างกับกรณีของยูนิลีเวอร์
นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา บริษัทเชลล์ก็เข้าไปดำเนินงานในสหราชอาณาจักรและตั้งถิ่นที่อยู่ภาษีในเนเธอร์แลนด์
- กระทบเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เพียงใด
จนถึงขณะนี้ เชลล์ยังคงเป็นบริษัทดัตช์รายใหญ่ที่สุด ด้วยเม็ดเงินรายได้กว่า 158,000 ล้านยูโร หรือราว 5.84 ล้านล้านบาท ในปี 2563
แม้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่สื่อดัตช์รายงานว่า ผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ หากเชลล์ย้ายถิ่นที่อยู่ภาษีไปอยู่ที่กรุงลอนดอน จะอยู่ที่ “หลายพันล้านดอลลาร์” ต่อปีเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน เชลล์ยังติด 25 อันดับแรกบริษัทที่จ้างงานมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ด้วยจำนวนลูกจ้างราว 8,500 คน คิดเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนลูกจ้างทั่วโลกของเชลล์ที่มีอยู่ราว 87,000 คน ซึ่งบริษัทยืนยันว่า ถึงแม้ย้ายประเทศก็จะไม่ปลดพนักงาน
นอกเหนือจากเรื่องตัวเลขเหล่านี้ เชลล์ยังถือเป็นสัญลักษณ์สำหรับชาวดัตช์ที่สื่อถึงภาพลักษณ์ตัวเองในฐานะชาติแห่งผู้ค้าและนักสำรวจที่มุ่งเดินทางไปทั่วโลก
ปัจจุบัน ในหลายเมืองทั่วเนเธอร์แลนด์ต่างเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานเชลล์หลายแห่ง และโลโก้เปลือกหอยสีเหลืองขอบแดงก็ปรากฏอยู่ข้างตัวเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่หลายลำที่ล่องตามเส้นขอบฟ้าในรอตเตอร์ดัม เมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป
- ปัญหาภาษี เป็นปัจจัยหลักหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีหลัง ดูเหมือนว่ารัฐบาลดัตช์จะสามารถลดกระแสไม่พอใจของบรรดาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการเลี่ยงภาษี และปัจจัยแวดล้อมในการทำธุรกิจได้พอสมควร
ก่อนหน้านี้ มาร์ก รุตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ที่เคยได้รับความนิยม หมดต้นทุนทางการเมืองไปกับความพยายามดันนโยบายรีดภาษีรายได้จากบริษัท ซึ่งปรากฏว่านโยบายนี้ถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนัก
คาดกันว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีเป้าหมายที่แท้จริงคือ ต้องการเก็บภาษีก้อนโตจากบริษัทใหญ่อย่างเชลล์และยูนิลีเวอร์
ขณะเดียวกัน บรรดาบริษัทข้ามชาติกลับพบว่า เรื่องภาระทางการเงินและกฎระเบียบของการมีสถานะ 2 สัญชาตินั้น สร้างความยากลำบากต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ผลจากเบร็กซิทย้อนศร
เดิมนั้น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือเบร็กซิท มีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ได้ แต่ถึงแม้กรุงอัมสเตอร์ดัมแซงหน้ากรุงลอนดอน เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งยุโรป แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลบวกต่อเนเธอร์แลนด์เสียทีเดียว
เมื่อปี 2561 ยูนิลีเวอร์จำต้องยกเลิกแผนย้ายสำนักงานใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ หลังเกิดกระแสต่อต้านจากผู้ถือหุ้น ต่อมาปี 2563 บริษัทคอนซูเมอร์ยักษ์ใหญ่กลับทำตรงกันข้าม ด้วยการเปลี่ยนสัญชาติเป็นบริษัทอังกฤษเต็มตัว จากเดิมที่ถือสองสัญชาติ
เมื่อเผชิญกระแสกดดันทางการเมืองซัดกระหน่ำจากความล้มเหลวที่ต้องสูญเสียบริษัทยูนิลีเวอร์ไป นายกฯ รุตเตอ จึงยอมยกเลิกแผนขูดภาษีบริษัทใหญ่ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปัญหากลับยิ่งบานปลาย เพราะเชลล์มองว่ารัฐบาลจงใจพุ่งเป้ามาที่บริษัทตั้งแต่แรก แอนดรูว์ แมคเคนซี ประธานบริษัทเชลล์ กล่าวว่า ปัญหาขัดแย้งเรื่องแผนเก็บภาษีบริษัทของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ “กระตุ้นให้เชลล์ต้องย้ายไปสหราชอาณาจักร”