รวมความเห็นกูรูโลก ‘เจาะลึกสายพันธุ์โอมิครอน’

รวมความเห็นกูรูโลก ‘เจาะลึกสายพันธุ์โอมิครอน’

ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน กรุงเทพธุรกิจรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญถึงข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่สร้างความกังวลอยู่ในขณะนี้

ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์เผย เร็วเกินไปจะบอกว่าต้องมีมาตรการเพิ่มเติมรับมือสายพันธุ์โอมิครอนในสิงคโปร์หรือไม่ แต่ถ้าจำเป็นการจำกััดการเดินทางและการรวมตัวเป็นมาตรการที่ได้ผลที่สุด อนามัยโลกชี้ติดง่ายกว่าเดลตา แต่ยังไม่ทราบความรุนแรง

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียรายงาน นางสาวนาตาชา โฮวาร์ด จากวิทยาลัยสาธารณสุขซอสวีฮ็อก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า สายพันธุ์โอมิครอนดูเหมือนติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์หลัก “เดลตา”มาก จึงอาจหมายความว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มความเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

 

“เรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมากพอจะบอกได้ว่า สายพันธุ์นี้มีความเสี่ยงมากแค่ไหน และจำเป็นต้องออกมาตรการเตรียมการเพิ่มเติมหรือไม่ เรายังเพิ่งเริ่มต้น แต่ละวันเราได้เรียนรู้เพิ่ม ดังนั้นต้องใช้มาตรการที่มีอยู่จนกว่ามีหลักฐานใหม่บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องเพิ่มข้อจำกัด"

นายเหลา ต้าไห่ จากวิทยาลัยแพทย์ลี คองเชียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าวว่า คำถามหลายอย่างเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ยังรอคำตอบ

“ยังยากที่จะตัดสินว่าต้องออกข้อจำกัดระดับไหนถึงจะเหมาะสมและได้ผลในการป้องกันสิงคโปร์และประชาชน”

อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องว่า โอมิครอนน่าจะเกิดในสิงคโปร์เร็วๆ นี้ และเนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัคซีนที่มีใช้กับสายพันธุ์นี้ได้ผลแค่ไหน ดังนั้นข้อจำกัดที่มีอยู่จึงช่วยลดการติดต่อได้ดีที่สุด

“นั่นหมายรวมถึงให้ทำงานที่บ้านไว้ก่อน ลดการออกไปเจอผู้คน ถ้าเจอก็ให้จำนวนน้อยที่สุด โดยเฉพาะในที่ร่ม สวมหน้ากากต่อไป และจุดตรวจพรมแดนต้องใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อตามที่กำหนด” โฮวาร์ดกล่าว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) แถลงเมื่อวันพุธ (1 ธ.ค.) ยืนยันว่า สหรัฐพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้วทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย

นายแอนโทนี เฟาซี หัวหน้าที่ปรึกษาการแพทย์ทำเนียบขาวเผยว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวซึ่งฉีดวัคซีนครบแล้วเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้เพิ่งกลับเข้ามาในพื้นที่ซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 22 พ.ย. มีอาการในสามวันต่อมา ตรวจพบติดโควิดวันที่ 29 พ.ย.

“คนผู้นี้กำลังกักตัวเอง ผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคนได้รับการติดต่อมาตรวจเชื้อได้ผลเป็นลบ เรารู้สึกดีที่ว่า ผู้ป่วยคนนี้ไม่ใช่แค่มีอาการเล็กน้อยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วอาการกำลังดีวันดีคืน”

นายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย แถลงในวันเดียวกันว่า ผู้ป่วยรายนี้อายุระหว่าง 18-49 ปี ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น เพราะฉีดคอร์สแรกไปยังไม่ครบ 6 เดือน

ซีดีซีแนะนำให้ผู้ใหญ่ในสหรัฐทุกคนฉีดเข็มกระตุ้น 6 เดือนหลังจากฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาครบ 2โดส หรือ 2เดือน หลังฉีดจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเข็มเดียว

นายแพทย์มาร์ค แกลี ผู้ดูแลงานด้านสาธารณสุขและสวัสดิการ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ป่วยคนนี้อาการดีขึ้นเน้นย้ำถึงความสำคัญของวัคซีน

“เราคุยกันมานานแล้วว่า การฉีดวัคซีนสำคัญจริงๆ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง การเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ หลักฐานที่ว่าผู้ที่ติดโอมิครอนจริงๆ แล้วมีอาการเล็กน้อยและตอนนี้ดีขึ้น ผมคิดว่านี่คือประจักษ์พยานแห่งความสำคัญของการฉีดวัคซีน”

นางมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวันพุธ ตามเวลาเจนีวา อ้างรายงานข่าวจากแอฟริกาใต้ชี้ว่า ผู้ป่วยโอมิครอนบางคนมีอาการเล็กน้อย แต่ที่อาการรุนแรงขึ้นก็มีเหมือนกัน ตอนนี้กำลังจับตาผู้ที่เข้าโรงพยาบาลว่าติดสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่

“ฉากทัศน์หนึ่งที่เป็นไปได้แน่ๆ คือไวรัสยังวิวัฒนาการไม่หยุด และอาจมีข้อได้เปรียบเรื่องความแข็งแกร่ง หมายความว่ามันสามารถติดได้ง่ายกว่าเดลตา ก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่เรายังไม่ทราบเรื่องความรุนแรง”