ผลวิจัยฮ่องกงชี้โอมิครอนอาจแพร่เชื้อทางอากาศ-หลบวัคซีนได้

ผลวิจัยฮ่องกงชี้โอมิครอนอาจแพร่เชื้อทางอากาศ-หลบวัคซีนได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดระหว่างนักเดินทาง 2 คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วซึ่งพักอยู่ในห้องตรงข้ามกันในโรงแรมแห่งหนึ่งในฮ่องกงที่ใช้เป็นสถานที่กักตัว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร "Emerging Infectious Diseases" ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดระหว่างนักเดินทาง 2 คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วซึ่งพักอยู่ในห้องตรงข้ามกันในโรงแรมแห่งหนึ่งในฮ่องกงที่ใช้เป็นสถานที่กักตัว

ภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ถูกกักตัวทั้งสองคนนั้นไม่ได้ออกมาจากห้องพักและไม่ได้สัมผัสติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้แพร่ระบาดทางอากาศ เมื่อผู้ที่กักตัวเปิดประตูห้องออกมาเพื่อรับอาหาร หรือรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19

"การตรวจพบว่า ไวรัสโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อระหว่างคน 2 คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสซึ่งพักอยู่ห้องตรงข้ามกันในโรงแรมที่ใช้กักตัวนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง" หัวเกา กู, เหลียว พูน และผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุ

ไวรัสโอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในส่วนของโปรตีนหนาม (Spike Protein) ทำให้เกิดความกังวลว่า ไวรัสชนิดนี้อาจจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีน อีกทั้งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เลวร้ายลง และส่งผลกระทบต่อความพยายามในการเปิดเศรษฐกิจ

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้เชี่ยวชาญราว 450 คนทั่วโลกได้เริ่มทำการศึกษาอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโอมิครอนอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจจะได้คำตอบในเรื่องดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้

รายงานระบุว่า หลายประเทศได้ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโอมิครอน โดยในสิงคโปร์ ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการป่วยเล็กน้อย และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโอมิครอน

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเกี่ยวกับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ และระบุว่า โอมิครอนยังคงเป็นภัยคุกคามที่ไม่รู้จัก