21 เขต ศก. APEC ขานรับ "แนวทางเปิดประเทศ" เชื่อมการค้า
การอยู่ร่วมกันกับโควิด-19 (Living with Covid-19) เป็นแนวทางที่ทั่วโลกกำลังพิจารณาใช้กำหนดนโยบาย เพื่อกลับมาเปิดเศรษฐกิจประเทศ เชื่อมโยงการค้าและการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน
การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้กำหนดหัวข้อหลักว่า "Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล" มุ่งการฟื้นเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ แบบที่ไม่ตื่นกลัว แต่ต้องตระหนักถึงโอกาสไวรัสจะกลายพันธุ์ได้ในอนาคต
“ธานี ทองภักดี” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (ISOM) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคขานรับและเห็นความสำคัญแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ที่สอดคล้องกับสิ่งที่เอเปคดำเนินการอยู่ และหลายเขตเศรษฐกิจก็มีนโยบายอยู่แล้ว ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางช่วยอำนวยความสะดวกให้การเดินทางง่ายขึ้น เช่น ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิดซึ่งกันและกัน การลดขั้นตอนการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
Open เปิดประเทศฟื้น ศก.เอเปค
ส่วนการเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุน ที่ประชุมได้หารือถึงการส่งเสริมให้ดำเนินธุรกิจและค้าขายกันต่อไปได้ รวมถึงการผลักดันให้การจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก หรือ FTAAP ซึ่งเป็นแนวคิดที่เอเปคมีมากกว่า 15 ปี ในบางเขตเศรษฐกิจก็มีความพร้อม บางเขตเศรษฐกิจก็ยังไม่พร้อม
เอเปคเห็นพ้องว่า ถึงเวลาแล้วจะต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เกี่ยวกับแนวคิดการจัดทำ FTAAP ว่า ยังมีความสำคัญในปัจจุบันและมีประเด็นอะไรใหม่ที่ต้องพิจารณาบรรจุเข้าไปใหม่ เช่น การค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อม โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มต้นคุยกัน ขณะที่การอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็มีการพูดถึง ตั้งแต่การขนส่งสินค้าในแง่กฎระเบียบต่างๆทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การฟื้นตัวของแต่ละเขตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
Connect เชื่อมการค้า - ศก. - เดินทาง
“ทุกคนตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วต้องเปิดประเทศกลับสู่การเชื่อมโยงกันอีกครั้ง แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปและนักธุรกิจสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้เหมือนก่อนการระบาดโควิด-19” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
Balance สร้างการค้าครอบคลุม สมดุล เท่าเทียม
ส่วนการสร้างสมดุล และทุกคนตระหนักดีว่า การเจริญเติบโตอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และไม่ใช่ทั้งหมด ตอนนี้ต้องกลับมาดูเรื่องการพัฒนาที่มีคุณภาพเป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ปี 2040 และแผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” (Aotearoa Plan of Action) ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานของเอเปคในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่เพิ่งลงนามไปที่เมื่อครั้งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ เดือนพฤศจิกายน 2564
"การประชุมครั้งนี้ไม่ได้หยิบยกเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนขึ้นหารือโดยตรง แต่ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า เรามาถึงจุดนี้ที่ต้องปรับการดำเนินธุรกิจ เพราะตระหนักดีว่าโควิดคงอยู่กับเราอีกนาน" ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าว และว่า ดังนั้นการเชื่อมโยงการค้าต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคการระบาดใหญ่ และยุคหลังโควิด รวมถึงคำนึงถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เพราะก็จำเป็นต้องเดินทางและค้าขายกันต่อไป
สำหรับประเทศไทยมองว่า สถานการณ์โควิดน่าจะดีขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากที่ประชากรส่วนใหญ่ของ 21 เขตเศรษฐกิจรวมถึงไทย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ย่อมส่งผลดีและเปิดโอกาสให้กับการเดินทางไปมาหาสู่กัน และเอเปคก็มีโอกาสจัดการประชุมแบบตัวต่อตัวมากขึ้น เราจึงวางแผนจัดการประชุมแบบกายภาพตลอดทั้งปี
"แนวทางการเปิดประเทศของ 21 เขตเศรษฐกิจ ฟังดูไม่ยาก แต่เป็นเรื่องซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะ 21 เขตเศรษฐกิจ ต่างก็มีระบบของตนเอง และในขณะนี้ การออกใบรับรองวัคซีนซึ่งกันและกัน ยังไม่มีการเชื่อมต่อ ทำให้ไม่ง่ายที่เขตเศรษฐกิจหนึ่งจะรับรองวัคซีนให้กับอีกเขตเศรษฐกิจหนึ่งแบบอัตโนมัติ" ปลัด กต. กล่าว
ธานี ได้ยกตัวอย่างกรณีประเทศไทยมีระบบ Thailand Pass และขณะนี้ไทยได้รับ Public Key Infrastructure (PKI) ของ vaccine certificate หรือระบบรหัสสาธารณะสำหรับใบรับรองวัคซีน จากประมาณ 31 ประเทศ เพื่อผู้ยื่นคำร้องขอเข้าประเทศไทยที่ผ่านการลงทะเบียน Thailand Pass ถ้ามาจาก 31 ประเทศ ทางระบบของไทยจะตรวจสอบประเทศต้นทางและจะอนุมัติโดยอัตโนมัติทันที
เปิดประเทศอย่างมีขั้นตอน
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า แนวทางการเปิดประเทศจะนำไปสู่ความร่วมมือดังนี้
1.แนวทางการรับรองรับวัคซีนต้องศึกษาในเชิงเทคนิคต่อไป
2.การเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละเขตเศรษฐกิจจะเปิดกว้างแค่ไหนจะไปในทิศทางใด ก็ต้องหารือกันอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน
3.ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่ว่าทุกเขตเศรษฐกิจจะรับรองวัคซีนที่มีการใช้ในปัจจุบัน ทำให้ต้องพูดคุยกันว่าจะรับรองวัคซีนประเภทใดบ้าง ดังนั้นในเรื่องนี้ต้องใช้เวลาหารือกัน และจะต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้น หากสามารถรับรองวัคซีนซึ่งกันและกันได้ จากจุดนี้ก็ไปอีกหนึ่ง ถ้าหากรับรองใบฉีดวัคซีนแล้ว จะเปิดโอกาสให้การเดินทางสะดวกมากได้แค่ไหน และโอกาสไปถึงการจัดทำระเบียงการเดินทาง (Bubble Travel) ได้หรือไม่ แม้มีความตกลงจะเดินหน้าเรื่องนี้แต่ก็ไม่ใช่ทุกเขตเศรษฐกิจจะเริ่มพร้อมในเวลาเดียวกัน อาจเฉพาะเขตเศรษฐกิจที่พร้อมก่อนส่วนที่เหลือเมื่อพร้อมแล้วค่อยมามีส่วนร่วมในภายหลังก็ได้
นักธุรกิจ 21 เขตเศรษฐกิจได้ประโยชน์วีซ่า APEC
ในปัจจุบันมีระบบ APEC Business Traval Card ใช้แทนการขอวีซ่าล่วงหน้าสำหรับบางเขตเศรษฐกิจเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจใช้เวลาเดินทาง ที่ประชุมหารือว่าจะขยายผลให้ใช้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจระดับกลาง และทั่วไปให้เดินทางง่ายขึ้น เดิมจำกัดเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น
ในระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับผู้แทนจากหลายประเทศเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐ จีน รัสเซีย และสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นการรับฟังไอเดียจากประเทศสมาชิก ขณะเดียวกันไทยก็ต้องการผลักดันหัวข้อหลัก ในฐานะเป็นเจ้าภาพเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า
ธานี กล่าวตอนท้ายว่า ไทยได้รับฟังความเห็นประเทศเหล่านี้ นำมาปรับให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เช่น สหรัฐและจีน ก็สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจ BCG และเมื่อพูดถึงการเปิดการค้าเสรีการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเชื่อมโยงการค้า ทั้งสหรัฐและจีน ก็สนับสนุนแนวทางดังกล่าวเพราะสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาต้องการทำอยู่แล้ว