"วิกฤติซัพพลายเชน" ฝันร้ายส่งท้ายปีของแอ๊ปเปิ้ล
"วิกฤติซัพพลาย เชน" ฝันร้ายส่งท้ายปีของแอ๊ปเปิ้ล โดยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า10ปี ที่โรงงานประกอบไอโฟนและไอแพดให้แอ๊ปเปิ้ล ยุติสายการผลิตนานหลายวัน เพราะระบบซัพพลายเชนมีปัญหา
บริษัทแอ๊ปเปิ้ลกำลังเจอฝันร้ายก่อนเทศกาลคริสต์มาสจะเริ่มต้น จากวิกฤติซัพพลายเชน ที่ทำให้การส่งของขวัญประเภทต่างๆให้ถึงมือลูกค้าทั่วโลกประสบปัญหาล่าช้า หลังจากหลายประเทศพร้อมใจล็อกดาวน์นานสองปี จนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิพในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์ในสำนักงาน จนถึงอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ช่วงต้นเดือน ต.ค. ของทุกปี โรงงานผลิตส่วนใหญ่ในจีนจะยุติสายการผลิตเพราะเป็นวันหยุดประจำปี “โกลเดน วีค” แต่ไม่ใช่กับโรงงานผลิตของเหล่าซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอ๊ปเปิ้ล ที่ต้องเร่งผลิตสินค้าให้มากขึ้นกว่าปกติ
เพราะฉะนั้น สัปดาห์นี้ จึงเป็นสัปดาห์ที่ “ฟ็อกซ์คอนน์” “เพกาทรอน” และผู้รับจ้างผลิตรายอื่นๆ ต่างเร่งผลิตสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้าทั่วโลก ยกเว้นปีนี้ที่ต่างออกไป คนงานในโรงงานไม่ต้องทำงานล่วงเวลา
แหล่งข่าววงในหลายคน เปิดเผยกับเว็บไซต์นิกเคอิ ว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ที่โรงงานประกอบไอโฟนและไอแพดให้แอ๊ปเปิ้ล ยุติสายการผลิตนานหลายวัน เพราะระบบซัพพลายเชนมีปัญหา ประกอบกับกฏระเบียบที่เข้มงวดขึ้นในการใช้พลังงานของทางการจีน
“เพราะชิ้นส่วนและชิพมีจำนวนจำกัด จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะให้พนักงานทำงานล่วงเวลาในช่วงวันหยุดและจ่ายเงินพิเศษแก่บรรดาแรงงานฝ่ายผลิต สถานการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะตามปกติ ช่วงวันหยุดโกลเดนวีคของจีน โรงงานรับจ้างผลิตทุกแห่งมักจะเร่งผลิตสินค้าให้ได้มากที่สุด” ผู้จัดการในระบบซัพพลาย เชนคนหนึ่งที่ปฏิเสธเปิดเผยชื่อ กล่าว
หลังจากเปิดตัวไอโฟน 13 และไอแพดรุ่นใหม่ในเดือน ก.ย. แอ๊ปเปิ้ลก็ผลิตสินค้าไม่ได้ตามเป้าจำนวนหลายล้านเครื่องและทำรายได้ไม่ได้ตามเป้าหลายพันล้านดอลลาร์ แถมในหลายประเทศยังมีปัญหาผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าของแอ๊ปเปิ้ลเพื่อส่งมอบเป็นของขวัญได้ตรงกับเทศกาลด้วย
แอ๊ปเปิ้ล อาจเป็นที่อิจฉาของบริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคและเป็นบริษัทชั้นนำในระบบจัดซื้อของโลก โดยในแต่ละปี บริษัทผลิตไอโฟนจำนวนกว่า 200 ล้านเครื่องและผลิตแมคบุ๊ค 20 ล้านเครื่อง ไอแพด 50 ล้านเครื่อง และหูฟังแอร์พ็อดจำนวนกว่า 70 ล้านคู่ แต่แอ๊ปเปิ้ลก็ถูกเล่นงานจากปัญหาความวุ่นวายของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกในปีนี้ เช่นเดียวกับบริษัทผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภคอื่นๆ
แม้แต่ ทิม คุก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแอ๊ปเปิ้ล ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างและปฏิบัติการระบบซัพพลายเชนได้อย่างลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่งของโลก ยังยอมรับว่า ปัญหาภาวะตึงตึวในระบบซัพพลายเชนทำให้แอ๊ปเปิ้ลสูญเสียรายได้ในไตรมาสเดือน เม.ย.-มิ.ย. ประมาณ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ และสูญเสียรายได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. อีก 6,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งยังคาดการณ์ว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้บริษัทจะได้รับผลกระทบหนักขึ้น โดยแอ๊ปเปิ้ลเตรียมประกาศผลประกอบการบริษัทครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือน ม.ค. ปีหน้า
เว็บไซต์ของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ระบุว่า ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับของที่ส่งมาถึงในช่วงคริสต์มาสถ้าสั่งซื้อไอแพดรุ่นใหม่ในตอนนี้ ซึ่งมีการขยายช่วงเวลาของการจัดส่งเป็นช่วงกลางถึงช่วงปลายเดือนม.ค.ส่วนไอโฟน 13 โปร และไอโฟน 13 โปร แม็กซ์ ระยะเวลาในการรอคอยสินค้าจะสั้นลงเหลือหนึ่งถึงสองสัปดาห์ จากระยะเวลาไม่ถึงเดือนถึงห้าสัปดาห์ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของนิกเคอิที่สอบถามบรรดาผู้บริหารในระบบห่วงโซ่อุปทานและในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนกว่า 20 คน พบว่า ปัญหาที่เกิดกับระบบห่วงโซ่อุปทานส่งผลกระทบต่อบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่ผู้ผลิตสมาร์นโฟนชั้นนำโลกอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์, เสี่ยวหมี่, และออปโป้
ผู้ผลิตพีซีอย่าง เอชพี, เดลล์ เทคโนโลยีส์ และเอเซอร์ ตลอดจนบริษัทผลิตเครื่องเล่นเกมอย่างโซนี่ กรุ๊ป และนินเทนโด ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อย่างไดสันและแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ล้วนเจอปัญหาเดียวกันคือไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอที่จะจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าได้ทันช่วงวันหยุดปลายปี
ยกตัวอย่างกรณีของนินเทนโด ผลิตเกมคอนโซลรุ่นสวิตช์ในปีงบการเงิน ซึ่งไปสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปีหน้าได้ต่ำกว่าเป้าประมาณ 20% ส่วนเสี่ยวหมี่ บอกว่า ปัญหาภาวะตึงตัวของชิพทำให้การจัดส่งสมาร์ทโฟนของบริษัทในปีนี้เหลือแค่ 20 ล้านเครื่อง และสิ่งที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมกลัวมากที่สุดคือความต้องการสินค้าอาจจะลดลงไปอีกหลังจากไม่ได้รับสินค้าในช่วงวันหยุดปลายปี
ปัญหาการขาดแคลนชิพที่สร้างความปั่นป่วนแก่ผู้ผลิตทางด้านอุตสาหกรรมทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ต้องพึ่งพาระบบซัพพลายเชนอย่างมากและเป็นอุปสรรคค่อการจัดหาอุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศจนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลด้านความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การขาดแคลนผลผลิตทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเทศ
"เจสัน เฉิน" ประธานและซีอีโอของเอเซอร์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีอันดับ 4 ของโลก บอกว่า ไม่เคยเจอสถานการณ์ท้าทายแบบนี้มาก่อน วันหยุดในช่วงคริสต์มาสไม่ได้ถูกยกเลิกแต่ถูกเลื่อนออกไป
“โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ไม่เคยมีใครเจอประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เราไม่รู้เลยว่าจะรับมือกับความท้าทายที่สลับซับซ้อนนี้อย่างเหมาะสมได้อย่างไร”