'โฮคูริคุ' สายรถไฟพัฒนาญี่ปุ่น (1/2) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

'โฮคูริคุ' สายรถไฟพัฒนาญี่ปุ่น (1/2) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

รู้จัก 'โฮคูริคุ' เส้นทางรถไฟสายที่ช่วยพัฒนาเมืองที่ถูกมองข้ามในญี่ปุ่น ให้กลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น และทำให้เมืองเจริญมากขึ้นตามไปด้วย

ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวในภูมิภาคโฮคูริคุ ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับทะเลญี่ปุ่น ทางตะวันตกของเกาะฮอนชู

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ กลุ่มเมืองที่อยู่อีกฝั่งทะเล คนละฝั่งกันกับโตเกียว ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ไม่ค่อยนิยมนักของนักท่องเที่ยว อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ แต่เศรษฐกิจของเมืองแถบนี้ที่แต่ก่อนแทบจะไม่พึ่งพานักท่องเที่ยวเลยกลับเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงในช่วงปี 2012

การจะเข้าใจพัฒนาการของรถไฟญี่ปุ่น จำต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ ญี่ปุ่นนั้นประกอบไปด้วยที่ราบ 3 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือที่ราบคันโตอันเป็นที่ตั้งของเมืองโตเกียวและเมืองบริวาณเช่นโยโกฮาม่า ที่ราบคันไซซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโอซากา และเมืองหลวงเก่าอย่างเกียวโต และที่ราบนาโกย่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองที่นาโกย่า มีคนอยู่ที่บริเวณ 3 แห่งนี้มากแต่โบราณ ดังนั้นประวัติศาสตร์ การเมืองและเศรษฐกิจจึงพัฒนาหนาแน่นบริเวณนี้

การเดินทางระหว่างที่ราบทั้ง 3 ตั้งแต่สมัยโบราณนี้ ตั้งแต่การรบทัพจับศึก การแสวงบุญ การค้าขาย เชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญในที่ราบทั้ง 3 นี้ นิยมใช้เส้นทางที่เรียกว่า “โทไคโด” ซึ่งหากแปลตามตัวก็คือ “เส้นทางทะเลตะวันออก” ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่สำคัญที่สุดของประเทศตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะเชื่อมเมืองใหญ่เข้าด้วยกัน ดังนั้นเส้นทางนี้จึงเป็นทั้งชื่อและเส้นทางแรกของญี่ปุ่นที่มีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นและของโลกในปี 1964

โทไคโด เชื่อมระหว่างโตเกียว เมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 กับโอซากา เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของญี่ปุ่น และยังมีสถานีรายทางพาดผ่านเมืองที่สำคัญอาทิ โยโกฮามา เมืองที่มีประชากรอันดับ 3 ของประเทศ เกียวโตเมืองหลวงเก่า และนาโกย่า เมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางตอนกลางประเทศที่มีประชากรอันดับ 4 ของประเทศ

โทไคโด คือเส้นทางยุทธศาสตร์ ขนคน ขนทรัพยากร ทำให้เมืองรายทางนี้ที่เจริญอยู่แต่เดิมแล้ว เจริญขึ้นเรื่อยๆ ความสะดวก ความเจริญ ดึงดูดทั้งเม็ดเงิน ธุรกิจและคนเข้ามาให้อยู่กินทำมาค้าขายในเส้นนี้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันเมืองต่างๆ ที่อยู่นอกเส้นทางนี้ก็มีอัตราการพัฒนาที่ช้าลง เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ความแออัดคับคั่งของผู้ใช้บริการรรถไฟเส้นนี้ซึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิดที่นักท่องเที่ยวกลับมามากกว่าเดิม

คนญี่ปุ่นเอือมระอากับความหนาแน่นคับคั่งนี้ รัฐบาลก็ทราบดีและพยายามหาทางออกด้วยการพัฒนาเส้นทางใหม่ๆ แต่ก็ทำได้ยากมากเพราะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ จึงเกิดโครงการ “โฮคูริคุ”ขึ้นเพราะตั้งใจจะแก้ไขปัญหานี้ เช่นเดียวกับความตั้งใจในการกระจายความเจริญ เม็ดเงิน และนักท่องเที่ยวสู่เมือง/ภูมิภาคอื่นๆของประเทศ โฮคูริคุ คืออีกเส้นรถไฟความเร็วสูงที่ตัดจากโตเกียวเข้าใจกลางเกาะเชื่อมทะลสองฝั่งเข้าด้วยกัน โดยมีจุดหมายที่โอซากา

โฮคูริคุ คือเส้นทางใหญ่ตัดผ่านช่องเขาแคบๆ ผ่านเมืองที่สำคัญไม่มาก อย่างนากาโน โทยามา คานาซาวา ซึ่งเป็นเมืองที่แม้แต่คนญี่ปุ่นหลายๆ คนเองยังไม่เคยไป เพราะแต่เดิมการเดินทางไปเมืองเหล่านี้นั้นยากลำบากใช้เวลานาน ต่อรถไฟหลายขบวน แต่หลังจากปี 2012 เป็นต้นมาเมื่อสายรถไฟนี้เสร็จ (เป็นบางส่วน) ก็ทำให้เมืองเหล่านี้มีความคึกคัก เม็ดเงินและนักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่เมืองขนาดกลางเหล่านี้ และเมืองเล็กที่มีเสน่ห์เอกลักษณ์อื่นๆ รายรอบเส้นทาง

ร่ายมาซะยาว เพราะตั้งใจจะเล่าให้ฟังถึงการพัฒนาเมืองเล็กๆ รายทาง กับการหารายได้ของรถไฟสายอื่นๆ ที่นอกจากเส้นหลัก ตั้งใจจะบอกว่ามันมีวิธีในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองขนาดเล็กในญี่ปุ่นที่เราสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาและต่อยอดได้ แต่แค่เกริ่นก็หมดพื้นที่แล้ว ดังนั้นจึงขอมาเล่าต่อในสัปดาห์หน้าครับ