ผู้ลี้ภัยกัมพูชาเผยอยู่ไทยไม่ปลอดภัย ‘เสี่ยงถูกจับ-เนรเทศ’
ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวกัมพูชาในประเทศไทยเผย ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวหลังเพื่อนผู้ลี้ภัยร่วมชาติหลายคนถูกทางการไทยจับกุมและเนรเทศในเดือนที่ผ่านมา
เว็บไซต์วีโอเอนิวส์รายงานว่า ไทยจับกุมชาวกัมพูชา 5 คน ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในไทยตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.โดย 4 คนถูกส่งตัวกลับกัมพูชา ที่นั่นพวกเขาถูกควบคุมตัวทันทีเพราะมีหมายจับอยู่แล้ว ส่วนคนที่ 5 อดีตพระสงฆ์ Bor Bet ได้รับการประกันตัวในไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะนี้รอประเทศอื่นรับตัวไป
ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย (ซีเอพี) กลุ่มสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายของไทย เผยว่า นี่เป็นการเนรเทศผู้ลี้ภัยกัมพูชาออกจากประเทศไทยเร็วที่สุดนับตั้งแต่ไทยและกัมพูชาทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนผู้ร้ายต่างชาติที่ใช้ประเทศทั้งสองเป็นฐาน “ยุยงปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย” เมื่อปี 2561
“ตอนนี้เราไม่รู้สึกปลอดภัยอีกเลย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อนเราหลายคนเพิ่งถูกตำรวจไทยจับ จากนั้นถูกเนรเทศกลับกัมพูชา” นริธ สมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ที่กลายเป็นพรรคนอกกฎหมายไปแล้ว เผยกับวีโอเอนิวส์ทางโทรศัพท์จากสถานที่แห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยขอให้วีโอเอไม่เปิดเผยชื่อเต็ม
ผู้ก่อตั้งพรรคซีเอ็นอาร์พีรายนี้หลบหนีเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2563 ขณะได้รับการประกันตัวในกัมพูชาข้อหาสมคบคิดโค่นรัฐบาลที่เจ้าตัวปฏิเสธ นริธเผยอีกว่า ตั้งแต่ตำรวจไทยเริ่มจับกุมเขาต้องย้ายที่อยู่ถึง 3 ครั้ง
ทั้งนี้ ศาลฎีกากัมพูชาสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พีเมื่อปี 2560 โทษฐานวางแผนโค่นล้มรัฐบาล แต่ชาวกัมพูชาและต่างประเทศมองว่า การสั่งยุบพรรคมีแรงจูงใจทางการเมือง ศาลพิพากษาในช่วงที่รัฐบาลกำลังปราบปรามสหภาพแรงงาน กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสื่อสารมวลชนอิสระเพื่อขจัดความท้าทายทางการเมืองต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่ปกครองกัมพูชามานานกว่า 35 ปีด้วยการใช้อำนาจเด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ
นริธกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่สมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีหนีออกมาจากกัมพูชาเมื่อสามปีก่อน ขณะนี้ยังอยู่ในเมืองไทยอีกกว่า 60 คน
ด้วยความกลัวถูกตำรวจไทยจับ นริธเล่าว่า หลายคนใช้วิธีเปลี่ยนที่พักในเดือนที่ผ่านมา เปลี่ยนวิถีชีวิต งดใช้โทรศัพท์และงดโพสต์โซเชียลมีเดีย
เหล่าผู้ลี้ภัยกล่าวกับวีโอเอ เชื่อว่าระหว่างอยู่ในเมืองไทยพวกตนกำลังถูกจับตา ติดตาม และถ่ายรูปตั้งแต่ก่อนเริ่มการจับกุมระลอกล่าสุด
“ผมเปลี่ยนที่อยู่แล้วเพราะคิดว่าที่เก่าไม่ปลอดภัย แต่ยังไงทุกๆ วันผมก็รู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ดี เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่ตำรวจไทยจะจับ แล้วเอาพวกเราเข้าคุก” สมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีอีกคนหนึ่งในประเทศไทยเล่าโดยไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อ
ชัน สิธี อดีตที่ปรึกษาชุมชนพรรคซีเอ็นอาร์พี ที่หลบอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน กล่าวว่า เขามีคดีสมคบคิดหลายคดีรออยู่ในกัมพูชาเนื่องจากยังผลักดันพรรคซีเอ็นอาร์พีอย่างต่อเนื่อง ถ้าถูกส่งตัวกลับอาจติดคุกถึง 10 ปี เขาต้องย้ายอพาร์ทเมนท์ ลาออกจากชั้นเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเก็บตัวอยู่ในห้อง เลิกจัดรายการทอล์คโชว์ออนไลน์เกี่ยวกับกัมพูชา
“ผมกลัวว่าถ้าเขาส่งเพื่อนผมกลับกัมพูชาได้ ก็ส่งผมไปได้เหมือนกัน” สิธีย้ำ
ด้านนริธกล่าวต่อว่า ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาในประเทศไทยส่วนใหญ่ลักลอบเข้ามาเพื่อไม่ให้ถูกจับ ณ จุดตรวจพรมแดน เมื่อมาถึงเกือบทุกคนลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และได้รับการยอมรับเป็นผู้ลี้ภัย
ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอธิบายว่า การยอมรับนั้นช่วยไม่ให้พวกเขาถูกบังคับกลับกัมพูชา ที่มีโอกาสได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีเพียงน้อยนิด
“พวกเขาทั้งหมดได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ลี้ภัย สำหรับผู้ลี้ภัยอย่างน้อยๆ ประเทศไทยก็ต้องคุ้มครองพวกเขาไม่ให้ถูกเนรเทศ” รวิสรา เปียขุนทด เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯให้ความเห็น
วีโอเอนิวส์รายงานว่า แม้ไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยของยูเอ็น แต่ยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวว่า ไทยยังคงผูกพันกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตรายจากอนุสัญญาอื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคี
“ยูเอ็นเอชซีอาร์แสดงความกังวลพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดเว้นเนรเทศผู้ได้รับการยอมรับเป็นผู้ลี้ภัย และขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักการไม่ส่งตัวกลับไปเผชิญอันตราย”แคเทอริน สตับเบอร์ฟิลด์ โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์สำนักงานเอเชียและแปซิฟิกกล่าวกับวีโอเอ
ขณะที่แถลงการณ์ฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อเดือนก่อน ระบุว่าการที่ไทยบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศชี้ให้เห็นถึง “การละเลยหลักการเหล่านั้นอย่างชัดเจน”
วีโอเอติดต่อกับทางการไทย นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ตอบคำถามเรื่องการจับกุมและเนรเทศดังกล่าว โฆษกรัฐบาลและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่รับโทรศัพท์ไม่ตอบข้อความที่วีโอเอติดต่อไปหลายครั้ง
เดือนก่อนพล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เคยกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ รัฐบาลให้ความสำคัญกับกฎหมายคนเข้าเมืองของไทยเป็นอันดับแรก แต่เลี่ยงที่จะส่งคนไปเผชิญอันตราย