ดาวโจนส์ร่วง 106 จุดเหตุกังวล PPI พุ่งหนุนเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(14ธ.ค.)ปรับตัวร่วงลง 106 จุด ขณะที่นักลงทุนวิตกว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ย. จะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 106.77 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 35,544.18 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 ร่วงลง 0.75% ปิดที่ 4,634.09 จุด และดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 1.14% ปิดที่ 15,237.64 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อวันจันทร์(13ธ.ค.) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังอังกฤษพบผู้เสียชีวิตจากไวรัสโอมิครอนเป็นรายแรกของประเทศ ซึ่งสวนทางกับความเชื่อที่ว่า ไวรัสดังกล่าวจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต
ส่วนราคาหุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นในการซื้อขายวันนี้ ขานรับรายงานที่ระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดของทางบริษัทมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ทั้งนี้ ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายยืนยันว่า ยาแพกซ์โลวิดของทางบริษัทสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89%
นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 9.6% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย.2553 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.2% หลังจากดีดตัวขึ้น 8.8% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 6.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนส.ค.2557 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2%
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 14-15 ธ.ค.
ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
นายพาวเวล กล่าวว่า เฟดอาจปรับลดวงเงินคิวอีมากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะมีการหารือกันในการประชุมครั้งนี้
โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงินคิวอีเป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.2565 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563
ด้าน FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค.หรือมิ.ย.2565 และมีแนวโน้ม 61% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565