WHOเตือนโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้

WHOเตือนโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้

แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า ประเทศต่างๆไม่ควรมองว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เนื่องจากสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักได้

 "เราทราบว่าผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนสามารถแสดงอาการของโรคได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ไปจนถึงมีอาการหนัก หรือเสียชีวิตได้" แพทย์หญิงฟาน เคิร์กโฮฟกล่าว

แพทย์หญิงฟาน เคิร์กโฮฟยังกล่าวว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และหากระบบดังกล่าวล่มสลายลง ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิต

นอกจากนี้  ดับเบิลยูเอชโอยังเปิดเผยว่า หลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านโควิด-19 อาจมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

ดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า ความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก และจำเป็นต้องมีข้อมูลมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจต่อความสามารถของไวรัสดังกล่าวในการหลบหลีกภูมิต้านทานของร่างกายที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน หรือจากการที่ร่างกายเคยได้รับเชื้อมาก่อน

ด้านนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอ กล่าววานนี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่น และมีแนวโน้มที่จะระบาดไปยังทุกประเทศทั่วโลก

"โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดในอัตราความเร็วที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และขณะนี้ได้ระบาดไปยัง 77 ประเทศแล้ว ความจริงก็คือ ขณะนี้โอมิครอนได้ไปยังประเทศส่วนใหญ่ของโลกแล้ว แม้ว่ายังไม่ถูกตรวจพบในบางประเทศก็ตาม" นายแพทย์ทีโดรสกล่าว

นายแพทย์ทีโดรสยังกล่าวด้วยว่า "ดับเบิลยูเอชโอมีความกังวลต่อการที่ประเทศส่วนใหญ่เข้าใจว่าโอมิครอนเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง ซึ่งเรายังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการของโรคที่เบากว่าหรือรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้"

"เราได้เรียนรู้ว่าเราได้ประเมินไวรัสสายพันธุ์นี้ต่ำเกินไป เพราะต่อให้โอมิครอนไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่การที่สายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วก็จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน" นายแพทย์ทีโดรสกล่าว