"โอมิครอน" อาจดัน "อิสราเอล" ถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอิสราเอล เปิดเผยว่า อิสราเอลอาจถึงระดับการมีภูมิคุ้มกันหมู่ ท่ามกลางระบาดโอมิครอนเพิ่มขึ้น ขณะที่อิสราเอลได้อนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์คแอนด์โค ใช้กับผู้ป่วยโควิด-19
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้สูง ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ไปทั่วโลก ซึ่งในระหว่างวันที่ 24 - 30 ธ.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยมากกว่าวันละหนึ่งล้านคนต่อวัน แต่ยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกิดความหวังว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะเป็นอันตรายต่อชีวิตน้อยลง
ในอิสราเอล คาดว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะแตะระดับสูงสุดในอีก 2 - 3 สัปดาห์ข้างหน้า
นพ.นัคแมน แอช อธิบดีกรมสาธารณสุขอิสราเอล กล่าวว่า จำนวน (ผู้ติดเชื้อ) จะต้องสูงมากเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นไปได้ แต่ความเป็นจริงเราไม่ต้องการถึงระดับการมีภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยวิธีนี้ แต่ต้องการให้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19
ซัลมาน ซัคกา หัวหน้าคณะทำงานโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล กล่าวว่า อิสราเอลยังอยู่ห่างไกลจุดที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ระดับประเทศ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางรายมีอาการฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว แต่ก็กลับไปติดใหม่
การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้จากที่คนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนโควิดในสัดส่วนที่มากพอจะป้องกันไวรัส หรือคนเราสามารถพัฒนาแอนติบอดีในร่างกายให้สูงเพียงพอเพื่อต้านโควิด
กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ระบุว่า ประมาณ 60%ของประชากร 9.4 ล้านคนของอิสราเอลได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน โดยเกือบทั้งหมดได้รับวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้รับสามโดส หรือเพิ่งได้รับวัคซีนครั้งที่สอง
ขณะเดียวกัน ยังมีประชากรหลายแสนคนปฏิเสธรับวัคซีนเข็มที่สาม ท่ามกลางการติดตามสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโควิดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งอิสราเอลกำลังพิจารณาให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงโควิด-19
แถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลระบุว่า ได้อนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์คแอนด์โคให้กับผู้ป่วยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และได้ลงนามสัญญาเพื่อจัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ล็อตแรกในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม โมนูพิราเวียร์ได้รับอนุญาตจากสหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงบางราย โดยในการทดลองทางคลินิกพบว่า สามารถลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ประมาณ 30% ขณะที่สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติโมลนูพิราเวียร์ ในเดือนพฤศจิกายน