ดาวโจนส์ดิ่ง 392 จุดหลังรายงานเผยเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

ดาวโจนส์ดิ่ง 392 จุดหลังรายงานเผยเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(5ม.ค.)ปรับตัวร่วงลง 392 จุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)เผยแพร่รายงานการประชุม บงชี้ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ดีดตัว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 392.54 จุด หรือ 1.07% ปิดที่ 36,407.11 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 92.96 จุด หรือ 1.94% ปิดที่ 4,700.58 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 522.54 จุด หรือ 3.34% ปิดที่ 15,100.17 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดเมื่อวานนี้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ขณะที่นักลงทุนยังคงซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาหุ้นของเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดิ่งลงกว่า 1% ในการซื้อขายวันนี้ หลังจากที่จีเอ็ม สูญเสียตำแหน่งรถยนต์ขายดีที่สุดในสหรัฐประจำปี 2564 ให้แก่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ โตโยต้าสามารถครองตำแหน่งรถยนต์ขายดีที่สุดในสหรัฐประจำปี 2564 หลังจากที่จีเอ็มยึดตำแหน่งดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2474 หรือยาวนานถึง 90 ปี
จีเอ็ม เปิดเผยวานนี้ว่า บริษัทมียอดขายรถยนต์ในสหรัฐจำนวน 2.2 ล้านคันในปี 2564 ลดลง 12.9% เมื่อเทียบกับปี 2563 ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนชิป ซึ่งทำให้ต้องมีการปิดโรงงานจำนวนมาก

ด้านโตโยต้าระบุว่า บริษัทมียอดขายรถยนต์ในสหรัฐจำนวน 2.3 ล้านคันในปี 2564 เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมียอดขายรถยนต์มากกว่าจีเอ็มจำนวน 114,034 คัน และนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทรถยนต์ที่ไม่ใช่ของสหรัฐสามารถครองตำแหน่งยอดขายสูงสุดในอเมริกา

ซิตี้กรุ๊ป ออกรายงานระบุว่า ดัชนีเอสแอนด์พี 500 มีแนวโน้มพุ่งขึ้นทะลุ 5,000 จุดในช่วงสิ้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ปได้ปรับเป้าดัชนีเอสแอนด์พี 500 สู่ระดับ 5,100 จุดในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4,900 จุดในรายงานเดือนต.ค.2564

ดัชนี เอสแอนด์พี 500 ปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 4,793.54 จุด หลังจากพุ่งขึ้น 27% ในปี 2564

บริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 รายงานผลประกอบการสูงกว่าคาดในปีที่แล้ว โดยมีกำไรพุ่งขึ้น 52.8%, 96.3% และ 42.6% ในไตรมาส 1,2 และ 3 ตามลำดับ เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ไตรมาส 4 คาดว่าจะมีกำไรพุ่งขึ้น 22.3%

โดยได้ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งการดีดตัวขึ้นของราคาสินค้า และการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ในตลาด

ซิตี้กรุ๊ป คาดการณ์ว่าแนวโน้มผลประกอบการที่สดใสในปีนี้จะยังคงช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (เอดีพี) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 807,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 375,000 ตำแหน่ง จากระดับ 505,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.

ภาคบริการมีการจ้างงาน 669,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงาน 138,000 ตำแหน่ง

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 422,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และอัตราว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.1%

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 210,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 581,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำเดือนธ.ค.ในวันนี้ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว เฟดมีมติเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์

เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2565 โดยการปรับลดวงเงินคิวอีของเฟดได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำคิวอีในเดือนมี.ค.2565

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 2 ครั้งทั้งในปี 2566 และ 2567