จุดจบคดีเธรานอส:บทเรียนนักลงทุนชื่นชอบการขายฝัน

จุดจบคดีเธรานอส:บทเรียนนักลงทุนชื่นชอบการขายฝัน

คณะลูกขุนรัฐแคลิฟอร์เนียทำให้ชื่อของ“อลิซาเบธ โฮล์มส์” ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (3 ม.ค.)หลังจากที่เธอถูกศาลตัดสินในข้อหาฉ้อโกงถึง 4 ข้อหาจากทั้งหมด 11 ข้อหา และมีโทษจำคุกสูงถึง 20 ปี คดีนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีแก่บรรดานักลงทุนที่ชื่นชอบการขายฝัน

 "โฮล์มส์" วัย 37 ปีถูกพิพากษาให้มีความผิดในคดีฉ้อโกงทั้งสิ้น 4 ข้อหาจากทั้งหมด 11 ข้อหา จากคณะลูกขุนที่ประกอบด้วยชาย 8 คนและหญิง 4 คนที่พิจารณาคดีนี้มานานกว่า 3 เดือนผ่านการไต่สวนพยาน 32 คน

และในที่สุด คณะลูกขุนแห่งแคลิฟอร์เนีย ตัดสินว่า เธอมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับผู้อื่นในการก่อคดีฉ้อโกงนักลงทุนผ่านสายอิเล็กทรอนิกส์ 1 กระทง และการฉ้อโกงนักลงทุนเฉพาะรายอีก 3 กระทง ซึ่งแต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ส่วนอดีตแฟนหนุ่มของเธอจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งคาดว่าไม่น่ารอดพ้นความผิด     

ระหว่างต่อสู้คดี โฮล์มส์ อ้างว่า เธอรู้สึกเสียใจที่ดำเนินธุรกิจผิดพลาด และไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ใคร ๆ เข้าใจผิด เธอแค่เชื่อมั่นในทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะได้ผลจริง

นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวโทษอดีตแฟนหนุ่มว่าทำร้ายร่างกายและจิตใจเธอในช่วงเวลาดังกล่าวนับ 10 ปี จนส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ทำให้เธอไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างถูกต้อง

เธรานอส กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกเมื่อปี 2558 เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการแหกตาคนทั้งโลก ผ่านการเปิดโปงจากบรรดาอดีตพนักงานที่ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของบริษัทที่หลอกลวงประชาชน ทั้งยังกดดันให้พนักงานออกจากบริษัทเมื่อมีการตั้งคำถามถึงนวัตกรรมการตรวจเลือดที่ไม่ชอบมาพากล

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอมุมมองของนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญว่า คดีนี้ควรเป็นบทเรียนอย่างดีสำหรับนักลงทุน ที่พากันกระโจนเข้ามาลงทุนในเธรานอส เพื่อหวังทำกำไร ขณะที่บริษัทกำลังรุ่งเรือง โดยไม่ได้คำนึงถึงความรอบคอบในประเด็นที่ว่า ข้อมูลของเธรานอสไม่เคยได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างจริงจัง ทั้งยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐและจากภาคประชาชน เนื่องจากบริษัทอ้างเหตุผลด้านความลับทางการค้า
 

"วินนี ซัน ผู้อำนวยการบริหารของซัน กรุ๊ป เวลท์ พาร์ทเนอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบริหารความมั่งคั่งของสหรัฐ เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า หากนักลงทุนไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ควรเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลของบริษัทด้วยตนเองในกูเกิล และอ่านรีวิวจากลูกค้าตัวจริงอย่างละเอียด เช็คทวิตเตอร์ว่าผู้ใช้งานจริงมีความคิดเห็นเช่นไร ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเสมอ ไม่ใช่ฟังเพียงแค่คำขายฝันของบริษัทนั้น ๆ และถ้าใช้บริการโบรกเกอร์หรือที่ปรึกษาทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญก็จะช่วยสร้างความปลอดภัยได้อีกในระดับหนึ่ง

“หากคุณตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง ต้องตรวจสอบสถานะบริษัทอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะหากสนใจไอเดียของบริษัทนั้นเพียงเพราะฟังคำพูดของเพื่อนหรือจากชาวเน็ต หรือหากไม่มั่นใจ ให้ลงทุนในกองทุน ETF หรือกองทุนรวม จะปลอดภัยกว่าการเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละตัว"  ผู้อำนวยการบริหารซัน กรุ๊ป เวลท์ พาร์ทเนอร์ส กล่าว

รายงานของซีเอ็นบีซี ระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์กระจายการลงทุน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่าเป็นวิธีกระจายความเสี่ยงที่ดีที่สุด และช่วยยกระดับพอร์ตในระยะยาว

ส่วน“จีนา ชอย” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (กลต.) ประจำซานฟรานซิสโก  เคยกล่าวไว้ในช่วงที่เกิดการฟ้องร้องว่า “เรื่องราวของเธรานอสถือเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับซิลิคอน วัลเลย์ เพราะนักนวัตกรรมที่หวังจะปฏิวัติ และพลิกโฉมอุตสาหกรรมควรต้องบอกความจริงแก่นักลงทุนว่า

ปัจจุบัน เทคโนโลยีของคุณทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ขายฝันว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะสามารถให้อะไรได้บ้าง”

อย่างไรก็ตาม เธรานอส คงไม่ใช่บริษัทรายสุดท้ายที่จะก่อเรื่องอื้อฉาวแบบนี้ แต่อาจเป็นต้นแบบให้กับบรรดานักต้มตุ๋นรายต่อไปที่จะสร้างมหากาพย์บทใหม่ในอนาคต จึงได้แต่หวังว่า กรณีของเธรานอสกับการพิพากษาคดีนี้จะเป็นบทเรียนสอนใจให้นักลงทุนจดจำไว้ว่าอย่าหลงเชื่อแค่ข้อมูลที่ถูกแต่งแต้มให้สวยหรู แต่ให้เชื่อมั่นในข้อมูลที่เป็นจริง