กฏหมายรีไซเคิลเวียดนามหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

กฏหมายรีไซเคิลเวียดนามหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

กฏหมายรีไซเคิลเวียดนามหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดให้บริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลกต้องปฏิบัติตามกฏหมายใหม่หากไม่อยากถูกปรับเงิน

 ประมาณสัปดาห์ละ2ครั้ง  ที่ทีมงานในเวียดนามของบริษัทเวริทาสจะเก็บถ้วยกาแฟเก่าของสตาร์บัคที่ลูกค้าทิ้งแล้วมาทำรองเท้า ถ้วยและหน้ากากอนามัยให้ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทต่างๆ อย่างเมอร์เซเดส และอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์

เว็บไซต์นิกเคอิ นำเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวียดนามเป็นเสน่ห์ที่เย้ายวนใจอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการลดปริมาณขยะด้วยการทำให้สินค้าประเภทต่างๆมีอันตรายน้อยลงเพื่อเริ่มด้วยการแทนที่พลาสติกด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิก  

นี่คือหนึ่งในกลยุทธ์หลายด้านที่ตอกย้ำถึงแนวคิดของ“เศรษฐกิจหมุนเวียน”(Circular Economy) หรือวัฒนธรรมการแทนที่ของที่ไม่ใช้ในวันนี้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น

เมื่อบังคับใช้กฏหมายนี้ เวียดนามได้เข้าร่วมกับกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และทำให้บรรดาบริษัทต่างๆที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม ตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ล ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำของโลก จนถึงผู้ผลิตเบียร์ชื่อดังของญี่ปุ่นอย่างอาซาฮี บริวเวอรีต้องปรับตัวด้วยการทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆของบริษัท ชิ้นส่วน และการบรรจุหีบห่อไม่ก่อให้เกิดแก๊ซฝังกลบ

แต่ไม่รู้ว่าความพยายามในเรื่องนี้จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นจริงได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจ บางแห่งอาจกำจัดขยะจากระบบห่วงโซ่อุปทานได้ ขณะที่บางรายอาจจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงกระป๋องให้เล็กลงไม่ได้ช่วยให้คนบริโภคน้อยลง ซึ่งผู้ประกอบการอื่นๆยังคงแต่งแต้มแบรนด์สินค้าของตัวเองให้น่าดึงดูดใจในฐานะเป็นสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

“ตอนนี้แบรนด์สินค้าต่างๆถูกกดดันทั้ง2ด้าน ทั้งจากลูกค้าและบรรดาผู้ออกกฏหมาย บางคนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ขณะที่บางคนจำเป็นต้องใช้กฏหมายมาบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”ธานห์ ลี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการเวอริทาส  กล่าว

  เดิมที เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือการนำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อเลิกใช้แล้วจะถูกทิ้งไม่นำกลับมาใช้อีก เศรษฐกิจแบบเส้นตรงจึงส่งผลกระทบต่อโลก โลกจึงต้องเปลี่ยนแปลง

สวนทางกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

กฏหมายใหม่ของเวียดนามให้ทางเลือกบริษัทยักษ์ใหญ่สองทางเลือกคือ ติดตั้งระบบรีไซเคิล หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น บริษัทเหล่านี้ต้องมีระบบเก็บรวบรวมสินค้าของบริษัททันทีที่ลูกค้าใช้สินค้านั้นแล้ว สกัดวัสดุที่มีค่าออกมาและกำจัดวัสดุที่เหลือที่ไม่มีประโยชน์ทิ้ง ถ้าไม่ทำต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่จ่ายเงินจะถูกปรับเงิน

แอ๊ปเปิ้ล เอชพี พานาโซนิกและบริษัทอื่นๆมีโครงการที่จะกู้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคมองว่าไม่มีประโยชน์เป็นขยะ ซึ่งกฏหมายใหม่ของเวียดนามมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนโครงการลักษณะนี้

“ภาคธุรกิจไม่สามารถลงนามพอเป็นพิธี โดยไม่ใส่ใจอย่างจริงจังได้ ถ้าประเทศเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ”คิม ลี ผู้ร่วมก่อตั้ง CL2B  บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวกับนิกเคอิ

อย่างไรก็ตาม แอ๊ปเปิ้ล ที่เพิ่มการใช้ชิ้นส่วนรีไซเคิลทั้งในผลิตภัณฑ์ไอโฟนและไอแพดและจะสนับสนุนแผนซ่อมอุปกรณ์ด้วยตัวเองในปีนี้ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้แต่กล่าวถึงรายงานด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท ที่กำหนดเป้าสร้างขยะเป็นศูนย์เปอร์เซนต์

 ส่วนบริษัท 7 Bridges Brewing ที่เคยประกาศว่าจะเป็นผู้ผลิตเบียร์ที่ปลอดขยะรายแรกของเอเชีย ก็ทำสบู่จากฮ็อบและยีสต์เก่า และใช้เมล็ดพืชจากพิซซ่าและอาหารสัตว์ อีกทั้งที่ผ่านมา สื่อเวียดนามนำเสนอเรื่องราวมากมายที่ผู้คนเปลี่ยนกระดองปูเป็นเสื้อผ้าทำจากหนัง หน้ากากที่ใช้สวมในโครงการก่อสร้าง และทำเป้ที่มาจากผ้าใบกันน้ำ

แต่การรีไซเคิลก็มาพร้อมต้นทุนที่แพงขึ้น โดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง คิม ลี มีความเห็นว่า มีวัสดุน้อยมาก เช่น ตะกั่วและทองแดงที่ยังคงมีมูลค่าหลังจากถูกรีไซเคิลแล้ว และขั้นตอนนี้จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเมื่อวัสดุมีปารปนเปื้อนสารพิษ

“มินห์ เหงียน” จากสำนักงานอัยการเวียดนาม มีความเห็นว่า ด้วยความที่ทุกวันนี้ เวียดนามเป็นแหล่งขยะพลาสติกของมหาสมุทรใหญ่สุดอันดับ 7 ของโลก แถมหลายคนกำลังคาดการณ์ว่าเวียดนามจะกลายเป็นแหล่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีกฏหมายใหม่มาแก้ปัญหามลพิษทั้งด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ