พานาโซนิคร่วมขบวนทำงาน4วัน/สัปดาห์หวังเพิ่มความยืดหยุ่นพนักงาน

พานาโซนิคร่วมขบวนทำงาน4วัน/สัปดาห์หวังเพิ่มความยืดหยุ่นพนักงาน

พานาโซนิคร่วมขบวนทำงาน4วัน/สัปดาห์ ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนแนวคิดนี้ภายใต้นโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและงบประมาณ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว

พานาโซนิค ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น สนับสนุนแนวคิดของบริษัทญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่เสนอให้มีการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต สร้างความสมดุลระหว่างชีวิตในการทำงานและการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆของมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นเท่านั้นแต่ยังสนับสนุนให้พนักงานมีความจงรักภักดีต่อองค์กรมากขึ้นและขณะเดียวกันก็เป็นแม่เหล็กบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมกับองค์กรได้มากขึ้นด้วย       

เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเสนอให้พนักงานหยุดทำงานสามวันต่อสัปดาห์แก่พนักงานที่สนใจ “เราต้องสนับสนุนให้พนักงานของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี”ยูกิ คูสุมิ ประธานและคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)กลุ่มอุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าว

พานาโซนิคต้องการให้พนักงานมีเวลามากขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นความสนใจส่วนบุคคล ทั้งงานอาสาสมัครหรืองานจ็อบโดยบริษัทแต่ละแห่งจะเปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไป

 ในการสำรวจเมื่อปี 2563 โดยกระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่ามีบริษัทญี่ปุ่นแค่ 8% เท่านั้นที่เสนอให้พนักงานหยุดงานสองวันต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยให้พนักงานได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นของครอบครัว อย่าง ยาฮู แจแปน และซอมโป ฮิมาวาริ ไลฟ์ อินชัวรันช์ เสนอให้พนักงานหยุดงานสามวันในปี 2560 เพื่อให้ใช้เวลาที่หยุดไปดูแลลูกๆ  หรือบรรดาญาติที่เป็นผู้สูงอายุ 

 แต่ตอนนี้มีบริษัทมากขึ้นที่เริ่มมองเห็นประโยชน์จากการให้พนักงานทำงานสัปดาห์ละ4วันมากขึ้น อย่างกรณี บริษัทชิโอโนกิ ซึ่งให้คำปรึกษาด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสนอทางเลือกให้พนักงานหยุดงานได้สามวันต่อสัปดาห์เพื่อให้พนักงานมีเวลามากขึ้นในการเรียนรู้ทักษะความชำนาญใหม่ๆ ในช่วงที่บริษัทกำลังขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่นการให้บริการดูแลด้านสุขภาพ

"ซิสเต็ม ดิวิลอปเปอร์ เอนคัวเรจ เทคโนโลยีส์" นำระบบทำงานสัปดาห์ละ4วันมาใช้ในเดือนเม.ย.ปี 2564 ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากพนักงานหนุ่มสาวที่เห็นคุณค่าของวันหยุดทำงาน ช่วยให้บริษัทมีข้อมูลที่ถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อต้องมีการว่าจ้างพนักงาน 

ขณะที่ผลสำรวจจัดทำโดยมหาวิทยาลัยรีดดิ้งเมื่อปี 2562 ระบุว่ากว่า 60% ของบริษัทอังกฤษสนับสนุนแนวคิดทำงานสัปดาห์ละ 4 วันซึ่งช่วยปรับปรุงความสามารถด้านการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อไมโครซอฟต์ แจแปน ทดสอบความคิดนี้ในปี 2562 ประมาณ 90% ของพนักงานตอบรับด้วยความยินดีและบริษัทก็ตัดสินใจทำตามความต้องการของพนักงาน

ในเดือนธ.ค.ปี2563 ยูนิลีเวอร์ เริ่มทดลองทำงานสัปดาห์ละ4วันและจ่ายเงินเดือนเต็มเดือนในนิวซีแลนด์ และบริษัทกำลังคิดที่จะขยายทางเลือกนี้ไปยังตลาดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อชั่วโมงการทำงานโดยรวมและขีดความสามารถด้านการผลิตอย่างไร

แต่เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า แม้บริษัทในญี่ปุ่นจะมีความสนใจแนวคิดนี้มากขึ้น แต่มีบริษัทญี่ปุ่นไม่ถึง10% ที่นำแนวคิดนี้ไปใช้จริงๆส่วนใหญ่เป็นเพราะอุปสรรคด้านโลจิสติก ที่ทำงานหลายแห่งที่นี่ผูกค่าจ้างไว้กับจำนวนวันที่ทำงาน  ตัวอย่างเช่น  บ่อยครั้งที่คนงานลังเลใจที่จะหยุดงานเพราะกลัวว่าจะเสียงานที่ตนเองทำอยู่ให้กับเพื่อนร่วมงานไป

แต่ก็คาดว่าการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการทำงานที่จะช่วยสนับสนุนความสามารถด้านการผลิตและช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานทำให้พนักงานมีความสมดุลในการทำงานมากขึ้น 

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ปรับปากว่าจะสนับสนุนแนวคิดนี้ภายใต้แนวนโยบายล่าสุดเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและงบประมาณ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว 

หากรัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง โรคบ้างาน หรือ Karoshi Syndrome ภาวะทำงานหนักจนตายในหมู่ชาวญี่ปุ่นน่าจะค่อยๆหายไป 

คาโรชิ เริ่มเป็นที่โจษจันในสังคมญี่ปุ่นมานาน หลังจากมีข่าวว่าพนักงานหญิงอายุ 31 ปีของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวแม้ว่าจะมีอายุเพียง 31 ปี ต่อมาจึงรู้ว่าเธอคนนี้ทำงานล่วงเวลาตลอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งยังมีพนักงานชายของบริษัทเดียวกับเธอฆ่าตัวตายเพราะเครียดจากการทำงานเช่นกัน

ช่วงปลายปีที่แล้ว สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า ทั่วโลกมีคนทำงานเสียชีวิตเกือบปีละ 2 ล้านคน สาเหตุมาจากการทำงานหนัก เครียด และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นพิษ

ขณะที่องค์การแรงงานสากล(ไอแอลโอ) และยูเอ็น เปิดเผยผลสำรวจพบว่าในแต่ละปี มีคนทั่วโลกเสียชีวิตโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงาน ปีละเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนเสียชีวิตจากการทำงานมีหลายอย่าง ตั้งแต่ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป ความเครียด สำหรับผู้ที่ทำงานในออฟฟิศ และการทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตราย หรือมีมลภาวะ สำหรับผู้ที่ทำงานในโรงงาน

สัดส่วนผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 54 ปีขึ้นไป

ยูเอ็น ระบุว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1.9 ล้านคน ซึ่งสาเหตุก็มีตั้งแต่พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือมลภาวะในที่ทำงาน

ด้านองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)เปิดเผยว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป ทำให้มีคนเสียชีวิตทั่วโลกกว่า 745,000 คน จากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง