‘กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น’ พลิก ศก.สีเขียว ฟื้นภูมิภาคหลังโควิด
การระบาดใหญ่เร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวในกลุ่มความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ทำให้ทุกประเทศต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเร่งปรับตัว และเตรียมพร้อมรับวิถีปกติใหม่ (New Normal)
“อรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส” เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ได้เข้าร่วมการประชุมระดับอธิบดีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong - Japan Director General-level Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี "ทาเคฮิโร คาโน" อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานการประชุมร่วมกัน พร้อมด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงอีก 4 ชาติได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม
อรุณรุ่ง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการระบาดโควิด-19 และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดขึ้นตามมา รวมถึงความไม่เท่าเทียมและช่องว่างจากดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ได้นำข้อริเริ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ปี 2573 มาปรับใช้ และยกระดับให้เป็น “Green Mekong Forum”
การประชุมครั้งนี้ ได้ติดตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 และเตรียมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในปี 2565
รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การเพิ่มพูนบทบาทเชิงรุกของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในอนาคต
ที่ประชุมเห็นพ้องให้เร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในด้านการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เน้นการปรับตัวเพื่อการพัฒนาทางดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ความเชื่อมโยงทั้งทางกายภาพและทางกฎระเบียบ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารจัดการและบรรเทาภัยพิบัติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ด้านทาเคฮิโร กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากและเกิดความไม่แน่นอนในปัจจุบัน เพื่อให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเกิดการฟื้นตัวอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2564 ญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย และเป็นผู้นำโลกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังมีโอกาสเสริมสร้างความเข้มแข็งอีกมากมาย ให้เกิดขึ้นกับความร่วมมือแม่น้ำโขง - ญี่ปุ่นเพื่อการบรรลุ SDGs ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง