เปิด “ราคาเนื้อหมู” อาจ “ไม่ใช่เรื่องหมู” ในตลาดหลักทั่วโลก
"ราคาอาหารประเภทเนื้อสัตว์" ในหลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และซ้ำร้ายต้องเจอกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นี่ยังไม่รวมถึงการผูกขาดตลาดสินค้าบริโภคภายในประเทศ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับกระเป๋าตังค์ผู้บริโภค
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมสถานการณ์การค้าและราคาเนื้อหมู รวมถึงเนื้อสัตว์ในตลาดหลักๆ ทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม เพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคของไทย เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มราคา และปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้
"สหรัฐ" ลุยแก้ปัญหาผูกขาดจำหน่ายอาหารเนื้อสัตว์
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ ประกาศแผนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ม.ค.65) เป็นเงินงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินกฎระเบียบใหม่ให้กับผู้ผลิตเนื้อสัตว์อิสระและเจ้าของฟาร์ม ได้แข่งขันอย่างเสรีในภาคธุรกิจนี้
ในสหรัฐ มีบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์หลักๆ 4 แห่ง ได้แก่ คาร์กิลล์, ไทสันฟู้ดส์, เจบีเอส และเนชั่นแนลบีฟแพ็คกิ้ง ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเนื้อสุกร เนื้อวัว และไก่ในประเทศราว 55-85% ท่ามกลางความกังวลว่า จะควบคุมกลไกตลาดเนื้อสัตว์ในประเทศมากเกินไป ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถกำหนดราคาขายส่งและขายปลีก รวมถึงผลกระทบไปตกอยู่กับซัพพลายเออร์และลูกค้า
มีรายงานราคาเนื้อสัตว์หน้าร้านในสหรัฐ ประจำสัปดาห์นี้พบว่า เนื้อหมูราคาอยู่ที่ 4.49 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ราคาเนื้อวัวอยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และราคาเนื้อไก่อยู่ที่ 3.3-4 ดอลลาร์ต่อปอนด์
“ระบบทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันนั้น ไม่ได้เรียกว่าระบบทุนนิยมที่แท้จริง” ประธานาธิบดีไบเดน กล่าว
เว็บไซต์ The Pig Site รายงานว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลให้โรงงานผลิตเนื้อสัตว์ในสหรัฐต้องปิดตัวลงชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อในหมู่คนงาน ดูเหมือนว่า ราคาเนื้อหมูจะร่วงถึงจุดต่ำสุดในช่วงต้นฤดูหนาวในปลายเดือนพฤศจิกายนแล้ว
แต่การปรับระดับเพิ่มขึ้นก็ยังมีจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การนำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิล ล่าสุดสภาคองเกรสเรียกร้องให้ตรวจสอบการดำเนินการของบริษัท J&F Investimentos ของบราซิลที่เสี่ยงทำการผูกขาดและส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในสหรัฐ
"จีน" เร่งปรับกลยุทธ์ หลังเผชิญ ASF
กระทรวงเกษตรจีน รายงานว่า เมื่อเดือนพ.ย.2564 (ในช่วงต้นฤดูหนาว) จำนวนแม่สุกรของจีนเพิ่มขึ้น 4.7 จากปีก่อนแล้ว หรืออยู่ที่ 42.96 ล้านตัว แม้ว่าจะลดลง 1.2% จากเดือนตุลาคม แต่ประเทศจีนชำแหละสุกรไปแล้ว 235.9 ล้านตัวในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 66.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของฝูงสุกร หลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และอุปทานส่วนเกินทำให้ราคาเนื้อหมูลดลงในปีนี้ และผลักดันอัตรากำไรหมูไปสู่แดนลบ
ปัจจุบัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในจีนเริ่มลดลงในปลายเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ทำให้ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงกระตุ้นการจับจ่ายสินค้าบริโภคของคนในประเทศ
รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่หน้าโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ อาจส่งผลราคาพุ่งสูงขึ้น เช่น การเพิ่มอุปทานของสินค้าหลัก และการปราบปรามบริษัทที่ทำการเก็งกำไร โดยทั้งหมดนี้ได้ส่งสัญญาณว่า จะส่งผลตามที่ต้องการ
เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานล่าสุดว่า อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคยังคงอ่อนตัว สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากต้นทุนเนื้อหมูที่ลดลง ราคาอาหารลดลงในเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา โดยราคาเนื้อหมูลดลงเกือบ 37% และราคาผักปรับตัวสูงขึ้น
"เกาหลีใต้" ระดมเพิ่มอุปทานรับ เทศกาลตรุษจีน
สำนักข่าวยอนฮับ รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะเพิ่มอุปทานอาหารสำคัญๆ ที่จำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมรับในช่วงวันหยุดปีใหม่ทางจันทรคติ (เทศกาลตรุษจีน) ซึ่งจะเริ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า กำลังจัดหาอาหารจำนวน 204,000 ตัน เช่น ผักกาดขาว เนื้อวัว ไข่ และเนื้อหมู ก่อนล่วงหน้าเป็นเวลาสามสัปดาห์ก่อนวันหยุดตามประเพณีที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 มกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ราคาขายปลีกเนื้อหมูในเกาหลีใต้ 500 กรัมมีมูลค่า 10,745 วอนเกาหลีใต้ คาดราคาขายปลีกเนื้อหมูเริ่มเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเกือบจะแตะ 12,000 วอนเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน เทียบกับราคาประมาณ 8,500 วอนเกาหลีใต้ในเดือนมกราคม
ความต้องการผัก ไข่ และอาหารอื่นๆ มักจะเพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้ก่อนวันหยุดปีใหม่ทางจันทรคติและวันหยุดเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วงชูซอก เพราะชาวเกาหลีต้องเตรียมอาหารสำหรับการสังสรรค์ภายในครอบครัว ในช่วงวันหยุดจะมาถึง
ราคาสินค้าบริโภคของเกาหลีใต้เติบโตรวดเร็วที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สูงขึ้น มีอัตราเงินเฟ้อขยายตัว 2.5% ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.5 %ในปีก่อนหน้า โดยกระทรวงการคลัง ของเกาหลีใต้ คาดว่า มูลค่าการบริโภคสินค้าจะโต 2.2% ในปี 2565
"เวียดนาม" คาดควบคุมราคาเนื้อหมูได้
เว็บไซต์เวียดนามนิวส์ รายงานว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม คาดการณ์ในช่วงต้นปีราคาเนื้อหมูจะไม่พุ่งขึ้นเหมือนปีก่อนๆ เนื่องมาจากกำลังซื้อที่ลดลง
การระบาดใหญ่ส่งผลให้รายรับลดลง ทำให้คนในประเทศมีการใช้จ่ายที่ตึงตัว ส่วนราคาสุกรที่เป็นหนึ่งในอาหารหลักก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นทันที ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
หากควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโควิด-19 ได้ดีขึ้น จะทำให้ร้านอาหาร โรงเรียน และพื้นที่ท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยความต้องการเนื้อหมูจะฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ราคาสุกรในประเทศสูงขึ้นในปี 2565
อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปีนี้
การผลิตวัคซีนป้องกันโรค ASF ที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จ และนำไปใช้ทั่วไปกับตลาดสุกรที่มีชีวิตในเวียดนาม น่าจะทำให้ราคามีเสถียรภาพยิ่งขึ้น
มีรายงานว่า ราคาเนื้อหมูเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 49,500 ด่งเวียดนามต่อกิโลกรัม ลดลง 39.6% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ขณะที่ราคาเฉลี่ยของสุกรมีชีวิตของปีที่แล้วอยู่ที่ 62,200 ด่งต่อกิโลกรัม ลดลง 24.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์