โควิดบนเส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ "โรคประจำถิ่น" ในประเทศไหนบ้าง
ประเทศในยุโรป และสหรัฐ เผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่มาจากประสิทธิภาพสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ขณะที่อัตราฉีดวัคซีนก็สูงขึ้นด้วย แล้วประเทศเหล่านี้แก้วิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างไร
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมสถานการณ์และนโยบายล่าสุดของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และสหรัฐที่กำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แล้วรัฐบาลแต่ละประเทศมีแนวคิดอยู่ร่วมกันกับโควิด ดำเนินงานไปพร้อมๆกับรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร
"ฝรั่งเศส" ใช้โฮมไอโซเลชั่น
ฌ็อง กัสแต็กซ์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ช่อง France2 โดยแสดงความเชื่อมั่นวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่ ถึงแม้อัตราการแพร่ระบาดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องกักตัว กินยาเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แล้วรอตรวจผลใหม่ให้เป็นลบ
ขณะที่ วุฒิสภาฝรั่งเศสมีมติรับรองมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ฉบับแก้ไขในวันนี้ (13 ม.ค.) โดยได้ครอบคลุมถึงการออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนจะต้องแสดงบัตรผ่านวัคซีน (Vaccine Pass) ในสถานที่สาธารณะ ท่ามกลางประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย หลังจากที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีนอย่างดุเดือด
ประธานาธิบดีมาครง และสมาชิกพรรค La Republique En Marche เร่งออกมาตรการกระตุ้นผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังรับมือการระบาดระลอกที่ 5 ซึ่งปัจจุบันฝรั่งเศสฉีดวัคซีนโควิด ให้กับประชาชนแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 74.6% ของประชากรประเทศ
"สวิตเซอร์แลนด์" อาจเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านโรคประจำถิ่น
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เอเลียน เบอร์เซต รัฐมนตรีสาธารณสุขสวิสเซอร์แลนด์กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปยังระยะที่ประเทศต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ว่า ขณะนี้สวิตเซอร์แลนด์อาจอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากช่วงแพร่ระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ไข้หวัดใหญ่
ความคิดเห็นของเบอร์เซตเกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเปโดร ซันเชซของสเปน ออกมาเรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (10 ม.ค.) ให้จัดการกับวิกฤตการณ์ระบาดใหญ่ในปัจจุบันด้วยวิธีต่างออกไป โดยชี้ว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่การเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"สเปน" ร้องอียูปรับนโยบายรับมือโควิด
นายกรัฐมนตรีซันเชซ กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) ควรพิจารณาความเป็นไปได้ ในการรักษาโรคโควิด-19 เป็นอาการเจ็บป่วยแบบโรคประจำถิ่นแทนที่โรคระบาด หรือขยับไปเป็นการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดที่ใช้โมเดลไข้หวัดใหญ่
“มาถึงตอนนี้ สายพันธุ์โอมิครอนทำให้อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตต่ำกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ สิ่งนี้ทำให้ทั่วภูมิภาคยุโรปต้องทบทวนนโยบายเสียใหม่” นายกรัฐมนตรีซันเชซกล่าว
"สหราชอาณาจักร" จับตายอดติดเชื้อพุ่งแรง ป่วยไม่หนัก
นาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ม.ค.) ว่า สหราชอาณาจักรกำลัง “อยู่บนเส้นทางสู่การเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่น”
ยอดการติดเชื้อโควิดในลอนดอนลดลง ทำให้เกิดความหวังว่าการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนจะอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 ล้านคนในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านคนในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดที่ 1 ใน 15 คน
กรณีในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของสหราชอาณาจักร ลดลงจาก 1 ใน 10 คนมาเป็น 1 ใน 15 คน ขณะที่ฮอตสปอตตอนนี้อยู่ที่เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ ,ยอร์คเชียร์ และฮัมเบอร์ โดยอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 1 ใน 10 คนติดเชื้อโควิด
"โปรตุเกส" ผ่อนคลายข้อจำกัดโควิด ท่ามกลางติดเชื้อสูง
อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขโปรตุเกส เปิดเผยว่า รัฐบาลประกาศให้ผ่อนคลายข้อจำกัดการแพร่ระบาดโควิดเริ่มในวันที่ 14 ม.ค.นี้ ซึ่งอนุญาตให้เปิดร้านอาหาร ผับบาร์และโรงหนังกับผู้มีผลตรวจโควิดเป็นลบ นอกจากนี้ยังสิ้นสุดนโยบายเวิร์คฟอร์มโฮม ขณะที่โปรตุเกสบันทึกผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 40,945 ราย ในวันพุธที่ผ่านมา สร้างสถิติใหม่สำหรับการติดเชื้อรายวัน และทำให้ยอดสะสมรวม 1,734,343 ราย
"เดนมาร์ก" กลับสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนรัฐบาลเดนมาร์กเตรียมเสนอให้เปิดโรงภาพยนตร์และพิพิธภัณฑ์อีกครั้งตั้งแต่สัปดาห์หน้า แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในวานนี้ อยู่ที่ 24,343 ราย ส่งผลให้ยอดรวม สะสม 1.03 ล้านราย
แม้เดนมาร์กจะประกาศสถานที่ท่องเที่ยวไปเมื่อก่อนวันคริสต์มาสเพื่อหยุดการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโควิดมีแนวโน้มว่าจะมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่า ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเดนมาร์กแนะนำให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นายกรัฐมนตรีเมตต์ เฟรเดอริคเซ่น แสดงความสนับสนุนข้อแนะนำดังกล่าว โดยเธอกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโคเปนเฮเกนว่า คาดรัฐบาลจะประกาศการตัดสินใจในวันนี้ โดยรอเพียงแต่การสนับสนุนจากเสียงข้างมากในรัฐสภา
"สหรัฐ" ใกล้เกณฑ์อยู่ร่วมกับโควิด
นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวในวานนี้ (11 ม.ค.) ว่า ไม่มีทางที่จะกำจัดไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมีแนวโน้มกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ใหม่ และจะระบาดในกลุ่มผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ขณะนี้ การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนยังขึ้นๆ ลงๆ โดยหวังว่าประเทศจะเข้าสู่ระยะใหม่ ซึ่งจะมากพอป้องกันไวรัสในชุมชน
“เมื่อเราไปถึงจุดนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยเชื่อว่าตอนนี้เราอาจจะอยู่ในเกณฑ์อยู่ร่วมกับโควิดก็ได้ ขอย้ำว่า ปัจจุบันมีการบันทึกผู้ติดเชื้อโควิดเกือบล้านรายต่อวัน และผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกือบ 150,000 ราย” เฟาซีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ระบุว่าขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 145,982 ราย แต่เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการรักษาด้วยโรคนี้ในโรงพยาบาล แสดงถึงนัยสำคัญมากกว่าผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19