ดาวโจนส์ร่วง 99 จุดกังวลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ดาวโจนส์ร่วง 99 จุดกังวลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(25ม.ค.)ร่วงลง 99 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเกี่ยวกับยูเครน รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 99.13 จุด หรือ 0.29% ปิดที่ 34,364.50 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 12.19 จุด หรือ 0.28% ปิดที่ 4,410.13 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 86.21 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 13,855.13 จุด

ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท พุ่งขึ้น 15.69% สู่ระดับ 34.59 ในวันนี้

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงในวันนี้ หลังการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยระบุว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ภาวะคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีโอ) ในวันนี้ โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 4.4% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ 4.9% ในรายงานเดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่มีการขยายตัว 5.9% ในปี 2564

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 4.0% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.2% โดยได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงิน

บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไรในไตรมาส 4/64 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยได้อานิสงส์จากยอดขายวัคซีนโควิด-19 ที่ระดับ 1.82 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 60,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ J&J คาดการณ์ว่า บริษัทจะมีรายได้จากการจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ราว 3.0-3.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือราว 99,000-116,000 ล้านบาท

ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดบวกเกือบ 100 จุดวานนี้จากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไรในช่วงท้ายตลาด หลังจากดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุดในระหว่างวัน อันเป็นผลจากความกังวลที่ว่าเฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด รวมทั้งความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง หลังมีข่าวว่า สหรัฐได้เตรียมกำลังทหาร 8,500 นายพร้อมเคลื่อนพลไปยังยุโรป หากวิกฤตการณ์ยูเครนเลวร้ายลง

คำกล่าวของนายเพสคอฟตอกย้ำถ้อยแถลงของเขาวานนี้ที่ว่า สหรัฐและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กำลังเพิ่มความตึงเครียดต่อสถานการณ์ในยูเครน

ด้านนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวว่า นาโตได้เสริมกำลังทหารทั้งทางบก ทะเล และทางอากาศตามพรมแดนฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า

ทั้งนี้ รัสเซียกำลังตรึงกำลังทหารเกือบ 100,000 นายประชิดชายแดนยูเครน และอาจบุกโจมตียูเครนในไม่ช้า ขณะที่การเจรจาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับยูเครนยังคงไม่มีความคืบหน้า

ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 25-26 ม.ค. หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายต่างแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พร้อมกับคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้

ด้านโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์