ซีพีไอชี้นานาประเทศจัดการทุจริตไม่คืบ

ซีพีไอชี้นานาประเทศจัดการทุจริตไม่คืบ

ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ ซีพีไอ) ประจำปี 2564 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International หรือทีไอ) ชี้ให้เห็นว่า ระดับการทุจริตยังอยู่ในภาวะชะงักงันทั่วโลก

ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ ซีพีไอ) ประจำปี 2564 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International หรือทีไอ) ชี้ให้เห็นว่า ระดับการทุจริตยังอยู่ในภาวะชะงักงันทั่วโลก 86% ของประเทศต่างๆ ก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่ก้าวหน้าเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทีไอ พบว่า ประเทศที่ละเมิดเสรีภาพพลเรือนได้คะแนนซีพีไอต่ำอย่างต่อเนื่อง ความพึงพอใจคิดว่าต่อสู้การทุจริตได้ดีแล้วทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเลวร้ายลงและบั่นทอนประชาธิปไตยกำลังกระจายไปเป็นวงกว้าง เมื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเสื่อมถอยอำนาจนิยมจึงเข้ามาแทนที่ หนุนให้ระดับการทุจริตสูงขึ้น

ภาพรวมในระดับโลก ซีพีไอเฉลี่ยทั่วโลกยังคงอยู่ที่ 43 เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน ประเทศ 2 ใน 3 มีคะแนนต่ำกว่า 50 ประเทศที่มีคะแนนสูงสุดได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ 88 คะแนน ทั้งสามประเทศยังได้คะแนนเสรีภาพพลเมืองในดัชนีประชาธิปไตยสูงด้วย ส่วนประเทศที่ได้คะแนนซีพีไอต่ำสุดคือซูดานใต้ 11 คะแนน ตามด้วยโซมาเลียและซีเรีย 13 คะแนน

ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา 23 ประเทศซีพีไอลดลงอย่างมาก เช่น เขตเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างออสเตรเลีย (73) แคนาดา (74) และสหรัฐ (67) โดยสหรัฐหลุด 25 อันดับในดัชนีเป็นครั้งแรก ในกลุ่มนี้ 19 ประเทศมีคะแนนเสรีภาพพลเมืองลดน้อยลงด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในการฆาตกรรมผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน 331 คดีเมื่อปี 2563 เกิดในประเทศที่มีซีพีไอต่ำกว่า 45 คะแนนถึง 98%

สำหรับฟิลิปปินส์ ทีไอรายงานว่าเริ่มคะแนนตกตั้งแต่ปี 2557 ปีนี้เหลือ 33 คะแนน  ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต จำกัดเสรีภาพในการรวมตัวและแสดงความคิดเห็น หลังชนะการเลือกตั้งในปี 2559 นอกจากนี้อัตราการฆาตกรรมผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนยังสูงผิดปกติ 20 คนในปี 2563

ส่วนไทยติดกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำสุดนับตั้งแต่จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบเป็นรายปีเมื่อปี 2555 ประเทศอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม บอตสวานา แคนาดา คอโมโรส ไซปรัส เครือรัฐโดมินิกา เอสวาตินี ฮอนดูรัส ฮังการี อิสราเอล เลบานอน เลโซโท มองโกเลีย เนเธอร์แลนด์ นิการากัว ไนเจอร์ ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ เซอร์เบีย สโลวีเนีย ซูดานใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และเวเนซุเอลา

ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นิวซีแลนด์มีคะแนนเป็นที่ 1 (88 คะแนน) ตามด้วยสิงคโปร์ (85 คะแนน) และฮ่องกง (76 คะแนน) ต่ำสุดคือ เกาหลีเหนือ (16 คะแนน) อัฟกานิสถาน (16 คะแนน) และกัมพูชา (23 คะแนน)

เกาหลีใต้ (62 คะแนน) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพิ่มขึ้น 6 คะแนน ประชาธิปไตยดีในทุกมิติ มีการสับเปลี่ยนอำนาจอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้รัฐบาลระบบสิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพมาก ภาคประชาสังคมยังมีบทบาทสูง

ขณะเดียวกันอินเดีย (40 คะแนน) ยังคงไปไม่ถึงไหน ประเทศนี้น่าจับตา กลไกช่วยควบคุมการทุจริตอ่อนแอ รวมทั้งน่ากังวลเรื่องสภาพของประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐานและสถาบันในการตรวจสอบและถ่วงดุลผุกร่อน นักข่าวและองค์กรภาคประชาสังคมหากวิจารณ์รัฐบาลจะตกเป็นเป้า

สิงคโปร์สูงสุดในภูมิภาค 85 คะแนน จีน (45 คะแนน) เพิ่มขึ้น 6 คะแนนนับตั้งแต่ปี 2561 แต่ทั้งสองประเทศยังปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องประสิทธิภาพในการควบคุมทุจริตต้องแลกมาด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานที่สร้างความยั่งยืนในระยะยาว

วาทกรรมต้านทุจริตของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และการปราบปรามการทุจริตที่ทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่พบการทุจริตรูปแบบใหม่ในระดับสูงด้วยการใช้อำนาจกระจายสินทรัพย์ใหม่ในหมู่พรรคพวกตนเองและชนชั้นนำ ในสิงคโปร์การไร้เสรีภาพหมายความว่าการต่อต้านทุจริตผูกโยงกับเจตนารมณ์ทางการเมืองของชนชั้นนำและอาจเปลี่ยนใจได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 ซีพีไอกลายเป็นดัชนีชั้นนำระดับโลก ชี้วัดการทุจริตภาครัฐ ใช้ข้อมูลจากแหล่งภายนอก 13 แหล่ง เช่น ธนาคารโลก เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม บริษัทที่ปรึกษาและประเมินความเสี่ยงเอกชน กลุ่มคลังสมอง และอื่นๆ คะแนนสะท้อนถึงมุมมองของผู้เชี่ยวและนักธุรกิจ