“ตรุษเกาหลี” และ “ตรุษญวน” เทศกาลปีใหม่ตามจันทรคติที่ไม่ใช่แค่ “ตรุษจีน”
1 ก.พ. วันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ โดยทั่วไปมักรู้จักกันในนามของ "ตรุษจีน" อย่างไรก็ตาม ยังมีชนชาติอื่นที่มีวัฒนธรรมร่วม และให้ความสำคัญกับวันดังกล่าวในชื่อ "ตรุษเกาหลี" และ "ตรุษญวน"
“ตรุษจีน” เทศกาลที่สำคัญของคนจีน และคนที่มีเชื้อสายจีน โดยนอกจากจะสำคัญในฐานะ “วันขึ้นปีใหม่” ตามปฏิทินจันทรคติแล้ว ยังเป็นวันที่ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และประกอบพิธีไหว้เจ้าและไว้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูและขอให้ช่วยอำนวยให้ชีวิตในปีนั้นๆ ราบรื่น ไม่มีอุปสรรค โดยที่ประเทศจีนได้ประกาศให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการด้วย
อย่างไรก็ตาม การยกให้วันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันสำคัญนั้นไม่ได้เพียงเฉพาะประเทศจีน แต่ประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลจีนอย่าง “เกาหลีใต้” และ “เวียดนาม” ต่างก็ให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญของประเทศตนเช่นกัน
- “ตรุษเกาหลี” ธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ยุคโบราณ
วันตรุษเกาหลี หรือที่คนเกาหลีเรียกกันว่า “ซอลลัล” (Seol-lul) ซึ่งเป็นหนึ่งในวันที่มีความสำคัญของคนเกาหลี โดยในช่วงดังจะกล่าวจะเป็นช่วงหยุดยาวร่วม 3 วัน เพื่อที่จะให้คนเกาหลีได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามขนบธรรมเนียมของชาวเกาหลี
การขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคตินั้นอยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกาหลีมาอย่างยาวนาน ทำให้ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมร่วมในวันตรุษเกาหลีที่ไม่ต่างกันมากนัก โดยประเพณีที่สำคัญในวันนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับตรุษจีน คือมีพิธีการไหว้บรรพบุรุษ หรือที่ภาษาเกาหลีเรียกว่า "ชารเย" เพื่อเป็นการขอพรให้ลูกหลานมีชีวิตที่ราบรื่นและอยู่ดีมีสุข
อย่างไรก็ตาม ยังมีการแสดงความเคารพญาติผู้ใหญ่ด้วยการการไหว้ตามธรรมเนียมที่มีชื่อว่า "เซแบ" เมื่อเสร็จสิ้นแล้วทางผู้ใหญ่ก็จะให้ "เซแบดทน" (Se-bae-don) หรือที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อั่งเปาในฝั่งจีนนั่นเอง
ไฮไลท์ที่สำคัญอีกอย่างของตรุษเกาหลี คือ การแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ “ฮันบก” ที่มีสีสันสดใสในวันนี้ และยังมีเมนูอาหารประจำเทศกาลที่สำคัญอย่าง ต๊อกกุ๊ก หรือ ซุปเค้กข้าว เนื่องด้วยหน้าตาของวัตถุดิบอย่างแป้งต๊อกที่ถูกหั่นให้เป็นแว่นกลมๆ ดูมีความคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ เมนูนี้จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างในวันปีใหม่
ทำให้โต๊ะทานข้าวที่พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวจึงต้องมีต๊อกกุ๊กอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมี ต๊อกมันทูกุก (แกงจืดต๊อกใส่เกี๊ยว) และจับเช (ผัดวุ้นเส้นเกาหลี) ที่นับเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้ในช่วงตรุษเกาหลี
นอกจากจะได้กินอาหารร่วมกันแล้ว ยังมีกิจกรรมการละเล่นมากมายที่สมาชิกในครอบครัวจะสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ อาทิ ยุนโนริ เกมกระดานที่เดินหมากด้วยการโยนลูกเต๋า, เชกิชากิ เกมเตะลูกขนไก่ และ แพงงี เกมหวดลูกข่าง เป็นต้น
ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่กล่าวไป ถือเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว แม้ว่าในปัจจุบันจะนิยมแยกกันอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แต่เมื่อวันตรุษเกาหลีเวียนมาถึง ทุกคนในครอบครัวก็ต่างกลับมาใช้เวลาในวันหยุดปีใหม่นี้ร่วมกัน
- “ตรุษญวน” อรุณรุ่งของปีใหม่ ก้าวแรกของฤดูใบไม้ผลิ
เวียดนาม คืออีกหนึ่งประเทศที่ยังคงนับวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติให้เป็นวันสำคัญ เช่น จีน และเกาหลี โดยคนเวียดนามจะเรียกวันปีใหม่นี้ว่า “เต๊ด เหวียน ด่าน” (Tết Nguyên Đán) ที่มีความหมายว่า อรุณรุ่งของปีใหม่ ก้าวแรกของฤดูใบไม้ผลิ
แม้ว่าวันตรุษญวน หรือเรียกให้สั้นว่า “วันเต๊ด” นั้นจะเป็นวันเดียวกันกับตรุษจีน แต่ชาวเวียดนามจะเริ่มต้นเฉลิมฉลองเทศกาลเร็วกว่าวันเต๊ด 1 สัปดาห์ หรือเริ่มต้นฉลองตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ
โดยในวันแรกของการฉลอง ชาวเวียดนามจะทำพิธีไหว้เทพเจ้าแห่งเตาไฟ เพราะมีความเชื่อกันว่า เทพเจ้าแห่งเตาไฟจะดูแลครัวเรือน พร้อมทั้งคุ้มครองบ้านเรือนให้อยู่เย็นเป็นุสข และเมื่อถึงหนึ่งวันก่อนวันเต๊ดหรือวันส่งท้ายปีเก่า ก็จะมีพิธีการกราบไหว้บรรพบุรุษ เพื่อให้มาร่วมฉลองว่าเต๊ดด้วยกัน
อีกหนึ่งประเพณีที่จะเกิดขึ้นในวันส่งท้ายปีเก่า คือการเด็ดกิ่งไม้ตามพื้นที่สาธารณะ เพื่อนำมาจัดแจกันในเช้าวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งประเพณีนี้มีชื่อเรียกว่า “หายหลก” (Hái Lộc) โดยมีความเชื่อว่าจะเป็นการนำโชคเข้ามา
แม้จะมีความต่างจากตรุษจีนและตรุษเกาหลีในแง่ของรายละเอียดของพิธีกรรมต่างๆ แต่วัฒนธรรมร่วมที่โดดเด่นที่สุด คือการมาร่วมฉลองกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของสมาชิกในบ้าน รวมทั้งการแสดงความเคารพและรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนั้น ในวันขึ้นปีใหม่ ทางเวียดนามยังมีพิธี “หมึ่งต่วย” (Mừng Tuổi) หรือการให้พรอายุ โดยผู้ใหญ่จะคัดเลือกธนบัตรใส่ลงไปในซองแดง และนำไปให้แก่คนที่ยังเด็ก หรืออายุน้อยกว่า พร้อมทั้งอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเรียนหรือหน้าที่การงาน ซึ่งก็จะคล้ายคลึงกับการให้อั่งเปาของจีน และเซแบดทนของเกาหลี
สำหรับเมนูอาหารประจำเทศกาลเต๊ดที่สำคัญนั้น ก็จะมี “แบ๋งห์ จึง” หรือขนมข้าวต้มเวียดนาม โดยเมนูนี้มีความนัยสื่อถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อพ่อแม่และบรรพบุรุษ
อีกเมนูคือ เค้กจุง (Chung cake) ซึ่งก็เป็นเมนูที่สื่อถึงการแสดงความกตัญญูของลูกหลานต่อบรรพบุรุษอีกเช่นกัน และจากลักษณะที่มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม สะท้อนความเชื่อโบราณของคนเวียดนามว่าโลกมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม นับเป็นการแสดงความเคารพต่อจิตวิญญาณของชนชาติ
นอกจากนี้ การจัดเตรียมเมนูดังกล่าวยังช่วยให้สมาชิกในบ้านได้ใช้เวลาร่วมกันอีกด้วย ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมในเทศกาลเต๊ด อย่างการห่อมัดแบ๋งห์ จึง ก็มักอาศัยการทำด้วยกันหลายคนเพื่อให้ได้ได้จำนวนที่ต้องการและตามเวลาที่เหมาะสม
ช่วงเวลาของเทศกาลเต๊ด มักเต็มไปด้วยความอบอุ่นจากการรวมตัวของเหล่าสมาชิกในครอบครัว เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในตรุษจีนและตรุษเกาหลี จึงอาจบอกได้ว่าวัฒนธรรมนี้เสมือนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อเรื่องราวระหว่างอดีตและปัจจุบันของครอบครัว ผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
--------------------------------------------------------
อ้างอิง