'กู้วิกฤติเมียนมา'ภารกิจท้าทาย'ฮุนเซน'
'กู้วิกฤติเมียนมา'ภารกิจท้าทาย'ฮุนเซน' ขณะปัญหาที่แท้จริงของการเลื่อนประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียนคือการที่กัมพูชาตัดสินใจเชิญ “วันนะ หม่อง ลวิน” รัฐมนตรีต่างประเทศที่กองทัพเมียนมาแต่งตั้งเข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆไม่พอใจ
รายงานจากเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า การโอบอุ้มผู้นำทหารเมียนมาของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน แห่งกัมพูชาสะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน และหากว่าผู้นำกัมพูชายังเดินหน้าผลักดันเมียนมากลับมาสู่เส้นทางการทูตโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็อาจจะถูกโดดเดี่ยวและอาจเลวร้ายถึงขนาดถูกขับจากกลุ่ม
ตอนนี้อาเซียนกำลังเชิญปัญหาความคิดเห็นที่แตกแยกภายในกลุ่ม จากกรณีการพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา และพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมาช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเจรจาทางการทูตครั้งสำคัญครั้งแรกของปีนี้
รัฐมนตรต่างประเทศของกัมพูชามีกำหนดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เสียมราฐ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค.แต่ก่อนหน้าจะประชุมไม่กี่วัน กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาก็ออกแถลงการณ์เลื่อนการประชุมโดยเบื้องต้นไม่ได้บอกว่าจะจัดการประชุมเมื่อใด แต่สุดท้ายก็ประกาศเมื่อวันเสาร์ (29ม.ค.)ว่าจะจัดประชุมระหว่างวันที่ 16-17 ก.พ.นี้
กัมพูชาให้เหตุผลที่เลื่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งแรกออกไปว่าเป็นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็อาจเลือกจัดการประชุมทางออนไลน์ถ้ายังคงมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19อยู่แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการที่กัมพูชาตัดสินใจเชิญ “วันนะ หม่อง ลวิน” รัฐมนตรีต่างประเทศที่กองทัพเมียนมาแต่งตั้งเข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆไม่พอใจ
รายงานของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ถ้านายกรัฐมนตรีฮุนเซน ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เมียนมากลับเข้าสู่การเจรจาทางการทูตโดนไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกอาเซียน เขาอาจจะถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มและท้ายที่สุดอาจจะถูกขับออกจากกลุ่ม ซึ่งถือว่าฮุน เซน ที่พยายามทำให้ตัวเองเป็นเหมือนผู้กอบกู้อาเซียนกำลังเล่นเกมอันตราย
ในแถลงการณ์ร่วมของ 2 ผู้นำ ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ระบุว่า พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า เขา “ยินดีต้อนรับผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเมียนมา ที่จะเข้าร่วมพูดคุยกับทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วย” และเสริมว่า “ขั้นตอนสำคัญนี้อยู่ในฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน”
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อลดความตึงเครียดและเปิดการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนและพัฒนาประเทศ
“บทเรียนและสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ของกัมพูชา การจะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพที่สมบูรณ์แบบและความปรองดองในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากการมีส่วนร่วมและข้อตกลงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ฮุน เซน ระบุในแถลงการณ์
นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา ใช้เวลาช่วงวันที่ 7-8 ม.ค.ที่ผ่านมาหารือกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายของเมียนมาและผู้นำกัมพูชาถือเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางเยือนเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว และฮุนเซน หวังที่จะใช้การประชุมรัฐมนตรีที่เสียมราฐประสานรอยร้าวระหว่างเมียนมาและบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ
อย่างไรก็ตาม สมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่รวมถึง มาเลเซียและอินโดนีเซียไม่ได้รู้สึกดีด้วยกับสิ่งที่กัมพูชาทำ โดย"ไซฟุดดิน อับดุลลาห์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวว่า ในอาเซียนมีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเยือนของฮุน เซน โดยมีบางประเทศวิตกกังวลว่า การเยือนอย่างเป็นทางการของฮุน เซน จะถูกมองเป็นการให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
“มีคนที่คิดว่าเขาไม่ควรไปเยือน เพราะการเยือนของเขาถูกตีความหรือแปลความว่าเป็นการยอมรับทหารในเมียนมา” รัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวถึงฮุน เซน “มาเลเซียมีความเห็นว่า เขามีสิทธิเยือนเมียนมาในฐานะผู้นำรัฐบาลกัมพูชา แต่เราก็รู้สึกเช่นกันว่า เพราะเขารับตำแหน่งประธานอาเซียนแล้ว บางทีเขาควรจะปรึกษาหารือกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ เพื่อสอบถามทัศนะว่า เขาควรทำอย่างไรหากเขาจะเดินทางไปเมียนมา”
มาเลเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนหลายประเทศที่วิจารณ์การก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ปี 2564 และสนับสนุนการบอยคอตผู้นำเมียนมาหลังจากความล้มเหลวในการปฏิบัติตามโรดแม็ปสันติภาพของอาเซียน โดยประเทศอื่นที่มีจุดยืนคล้ายกันได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
เช่นเดียวกับ“ลี เซียน ลุง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่เรียกร้องให้อาเซียนยังคงตัดเมียนมาออกจากการประชุมต่างๆ ในกรอบอาเซียน จนกว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะให้ความร่วมมือกับการดำเนินการตามแผนการสันติภาพ
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แสดงความเห็นนี้ผ่านวิดีโอที่ถูกนำมาเผยแพร่ โดยเรียกร้องให้กัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้มีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งยังบอกกับฮุน เซน ว่า อาเซียนควรจะเชิญตัวแทนจากเมียนมาที่ไม่ใช่ผู้แทนทางการเมืองให้เข้าร่วมการประชุมของอาเซียน และการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเรื่องนี้ต้องยึดเอาข้อเท็จจริงใหม่เป็นหลัก
ลี เซียน ลุง ยังบอกด้วยว่า การมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับเมียนมาจำเป็นต้องรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ด้วย ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกทหารเมียนมายึดอำนาจและถึงแม้เมียนมาจะสัญญาว่าจะรักษาแนวทางสันติภาพ แต่กองทัพเมียนมายังคงโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง และยังคงลงโทษจำคุกผู้เห็นต่างเพิ่มขึ้น
บทวิเคราะห์จากนิกเคอิสรุปว่า ความพยายามของของฮุนเซนในการตอบรับรัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวอาเซียนไม่น่าจะนำเมียนมาหรืออาเซียนไปสู่อนาคตที่ดี