ดาวโจนส์ทะยาน 371 จุดขานรับผลประกอบการแกร่ง

ดาวโจนส์ทะยาน 371 จุดขานรับผลประกอบการแกร่ง

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(8ก.พ.)ทะยานขึ้น 371 จุด ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

 ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 371.65 จุด หรือ 1.06% ปิดที่ 35,462.78 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 37.67 จุด หรือ 0.84% ปิดที่ 4,521.54 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 178.79 จุด หรือ 1.28%  ปิดที่ 14,194.45 จุด

บริษัทจำนวน 300 แห่งในดัชนีเอสแอนด์พี  500 รายงานผลประกอบการในไตรมาส 4 แล้ว โดย 77% ในจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่ 75% มีรายได้สูงกว่าคาด

ราคาหุ้นของบริษัทฮาร์เลย์-เดวิดสัน อิงค์ ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 8% ขานรับกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาส 4/64

ส่วนราคาหุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดิ่งลง 4% หลังบริษัทเปิดเผยรายได้ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4/64

อย่างไรก็ดี ไฟเซอร์คาดการณ์รายได้สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ที่ระดับ 98,000-102,000 ล้านดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากการจำหน่ายยาและวัคซีนต้านโควิด-19

ทั้งนี้ ไฟเซอร์คาดการณ์ยอดจำหน่ายวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือราว 1 ล้านล้านบาท และยอดจำหน่ายยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยารักษาโควิด-19 จำนวน 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 726,000 ล้านบาท
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. โดยคาดว่าสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปีในสัปดาห์นี้ หลังจากที่เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ได้อีกมาก" โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 249,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 510,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่ง

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันที่ 10 ก.พ. ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ก่อนที่เฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มี.ค.

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดี
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนีซีพีไอ พุ่งขึ้น 7.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2525

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีซีพีไอพุ่งขึ้น 7.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2525 จากระดับ 6.8% ในเดือนพ.ย.

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 35% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14%

ด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%

นอกจากนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกายังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 จนแตะระดับ 2.75-3.00% ก่อนที่จะมีการทบทวนนโยบายการเงิน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.8% สู่ระดับ 8.07 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.30 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 7.93 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย.

ทั้งนี้ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.6% สู่ระดับ 3.089 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 2.281 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าพุ่งขึ้น 27.0% สู่ระดับ 8.591 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าระดับ 6.767 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563