'สงครามยูเครน'ต้นตอพลังงานขาด-ราคาแพง

'สงครามยูเครน'ต้นตอพลังงานขาด-ราคาแพง

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการทำสงครามสู้รบกับยูเครนของรัสเซียจะทำให้พลังงานขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น แต่อาจเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพราะกลไกของตลาดจะช่วยให้ราคาพลังงานลดลง

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสงครามในยูเครนและความขัดแย้งทางทหารในยุโรป รวมทั้งมาตรการลงโทษต่างๆ ต่อรัสเซียจะส่งผลให้สินค้าเชื้อเพลิงด้านพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นมากแต่กลไกด้านอุปสงค์และอุปทานอาจช่วยให้ราคาเชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้ในระยะกลาง

รัสเซียเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก คือส่งออกน้ำมันวันละราว 4.5 ล้านบาร์เรลจากจำนวนน้ำมันที่ขายในตลาดโลกวันละประมาณ 100 ล้านบาร์เรล

“เอ็ด ไฮร์” นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันจากมหาวิทยาลัยฮุสตัน คาดการณ์ว่าหากน้ำมันในตลาดโลกหายไปวันละ 1 ล้านบาร์เรลไม่ว่าจะเป็นเพราะจากสงคราม การคว่ำบาตร หรือจากความเสียหายต่อแหล่งผลิตน้ำมันก็คาดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 20 ถึง 25% และเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันจากรัสเซีย ราคาขายปลีกน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นแกลลอนละ 50 - 75 เซนต์
 

ราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นเป็นผลจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งจากสถานการณ์ไม่แน่นอนต่างๆ ถึงแม้มาตรการลงโทษซึ่งสหรัฐกับประเทศในยุโรปประกาศใช้กับรัสเซียจะพุ่งเป้าไปที่ธนาคารและผู้นำของรัสเซียเป็นอันดับแรกและยังไม่รวมถึงภาคพลังงานของรัสเซีย

เมื่อวันอังคาร (22ก.พ.)ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเตือนว่ามาตรการลงโทษต่อรัสเซียอาจส่งผลกระทบต่อคนอเมริกันในแง่ราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้ โดยผู้นำสหรัฐกล่าวว่าการปกป้องเสรีภาพจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับชาวอเมริกันเช่นกันและต้องพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

แต่ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐจะดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้แน่ใจว่าความเจ็บปวดจากเรื่องนี้จะพุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจของรัสเซียเป็นหลักไม่ใช่ของสหรัฐ และว่าตนจะประสานงานกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ เพื่อลดผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันในสหรัฐ
 

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ดูจะตรงกันข้ามกับสถานการณ์ในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งขณะนั้นความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติของโลกลดต่ำลงเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ทำให้ผู้คนอยู่กับบ้านและไม่ออกเดินทาง 

โดยในช่วงหนึ่งของเดือนเม.ย. ปี 2563 มีน้ำมันในตลาดโลกมากจนกระทั่งราคาน้ำมันติดลบ ซึ่งก็หมายถึงว่าผู้ผลิตน้ำมันต้องจ่ายเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อการรับมอบน้ำมัน

ผลของภาวะน้ำมันล้นตลาดทำให้มีการลดการผลิตน้ำมันลงอย่างมากเนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะน้ำมันนั้นสูงกว่าระดับราคาน้ำมันที่จะขายได้ บริษัทน้ำมันหลายแห่งต้องระงับปฏิบัติการ และในขณะนี้ ถึงแม้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้น

แต่“เกรกอรี อัพตัน”จากศูนย์ศึกษาด้านพลังงาน ของมหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนา ชี้ว่า การผลิตน้ำมันของโลกยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่เล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผลกดดันต่อราคาน้ำมันให้คงอยู่ในระดับสูง

อัพตัน อธิบายว่าหากมีการใช้มาตรการลงโทษต่อภาคการผลิตพลังงานของรัสเซียหรือขีดความสามารถในการผลิตของรัสเซียต้องลดลงจากสงครามในยูเครน และเป็นผลทำให้ราคาสินค้าพลังงานเหล่านี้ยิ่งสูงขึ้น อาจเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานของโลกกลับไปเริ่มการผลิต ซึ่งเคยระงับไปในช่วงต้นของโควิด-19 อีกครั้งและกลไกตลาดดังกล่าวก็จะช่วยปรับราคาน้ำมันให้เกิดดุลยภาพ 

อัพตัน มีความเห็นว่าแม้จะไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนในระยะสั้นได้แต่ในระยะกลางแล้วอาจจะช่วยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงได้

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า การเผชิญหน้าทางการทหารที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตชิพ ซึ่งอาจซ้ำเติมให้ปัญหาชิปขาดตลาดทั่วโลกรุนแรงขึ้น

ความขัดแย้งของสองประเทศสร้างความกังวลต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิพ เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตดังกล่าว ได้แก่ ก๊าซนีออน (Neon)

เทรนด์ฟอร์ซ (TrendForce) บริษัทวิจัยตลาดระบุว่า ยูเครนเป็นผู้ส่งออกก๊าซนีออนบริสุทธิ์เกือบ 70% ให้กับทั่วโลก ซึ่งใช้ในการแกะแบบแผงวงจรให้เป็นแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ (silicon wafer) เพื่อใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

เทรนด์ฟอร์ซ ยังระบุด้วยว่า แม้ว่าการส่งออกก๊าซนีออนจากยูเครนจะสะดุดลง แต่จะไม่กระทบต่อการผลิตชิพในระยะสั้น

แต่ปริมาณการส่งออกก๊าซนีออนที่ลดลงมีแนวโน้มทำให้ราคาก๊าซปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตซิลิคอนเวเฟอร์สูงขึ้นตามไปด้วย