ดาวโจนส์ร่วง 166 จุดจับตารัสเซีย-ยูเครนเจรจาหยุดยิง
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์ (28ก.พ.)ปรับตัวลง 166 จุดขณะที่นักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 166.15 จุด หรือ 0.49% ปิดที่ 33,892.60 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 10.71 จุด หรือ 0.24% ปิดที่ 4,373.94 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 56.77 จุด หรือ 0.41% ปิดที่ 13,751.40 จุด
ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท พุ่งขึ้น 11.34% สู่ระดับ 30.72
หุ้นของกลุ่มบริษัทผลิตอาวุธพุ่งขึ้นสวนทางตลาด ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลง
ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 834.92 จุด หรือ 2.51% ในวันศุกร์(25ก.พ.) โดยทำสถิติทะยานขึ้นมากที่สุดภายในวันเดียวเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 ขานรับรายงานข่าวที่ว่ารัสเซียส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับยูเครน
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาทั้งสัปดาห์ที่แล้ว ดาวโจนส์ปรับตัวลง 0.1% โดยร่วงลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 บวก 0.8% และแนสแด็กพุ่งขึ้น 1.1%
นักลงทุนจับตาการเจรจาโดยตรงระหว่างคณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการเจรจาได้เริ่มขึ้นแล้วในขณะนี้ที่ภูมิภาคโกเมลของเบลารุส ซึ่งอยู่ที่บริเวณชายแดนเบลารุสและยูเครน ใกล้กับแม่น้ำปรีเปียต
ทำเนียบประธานาธิบดียูเครน แถลงก่อนหน้านี้ว่า สาระสำคัญในการเจรจาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำข้อตกลงหยุดยิงโดยทันที และการถอนทหารรัสเซียออกจากยูเครน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจต่อการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนต่อสภาคองเกรสในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค.) เวลา 21.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าวันพุธ (2 มี.ค.) เวลา 09.00 น.ตามเวลาไทย
คาดว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของปธน.ไบเดนต่อสภาคองเกรสในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแถลงนโยบายประจำปีต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเป็นครั้งแรกของเขา จะได้รับความสนใจไปทั่วโลก ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในยูเครน โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ต่อชาวสหรัฐทั่วประเทศ ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นจะออกอากาศสดไปทั่วโลกเช่นกัน
นักวิเคราะห์คาดว่าปธน.ไบเดนจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความสำเร็จ และผลงานของรัฐบาลสหรัฐในปีที่ผ่านมา โดยเขาจะกล่าวถึงการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ พร้อมกับจะกล่าวถึงสิ่งที่เขาจะดำเนินการต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของการดำรงตำแหน่งของเขา
นอกจากนี้ ในประเด็นทางการเมือง ปธน.ไบเดนจะกล่าวประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน รวมทั้งจะกล่าวถึงมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซีย และมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อยูเครน
ทั้งนี้ การกล่าวแถลงนโยบายประจำปีในครั้งนี้มีขึ้น ขณะที่คะแนนนิยมของปธน.ไบเดนตกต่ำเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 43% ท่ามกลางความไม่พอใจของชาวอเมริกันเกี่ยวกับมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2-3 มี.ค. โดยอาจเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินต่อสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.
ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันที่ 2 มี.ค. และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 3 มี.ค. โดยการแถลงทั้งสองวันจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย
การแถลงนโยบายการเงินดังกล่าวจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี และเป็นการส่งสัญญาณว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดหรือไม่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายระบุว่า เฟดจะนำผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งในยูเครนเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณานโยบายการเงินของเฟด
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 415,000 ตำแหน่งในเดือนดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9%
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 249,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 510,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่ง