เปรียบเทียบแจก ATK ให้ฟรี "ไทย VS สหรัฐ"
สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดีเดย์แจกชุดตรวจโควิด (ATK) เฟส 2 ให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. สอดรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 20,000 คนต่อวัน
เช่นเดียวกับมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศที่ดีเดย์ในวันที่ 1 มี.ค. อาทิ การเริ่มเปิดด่านชายแดนทั้งทางบก (ในบางจุด อาทิ หนองคาย อุดรธานี) ทางน้ำและทางอากาศ และกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในข้อตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย-อินเดีย
ถือได้ว่าเป็นความพยายามในการผ่อนคลายความเข้มงวดในช่วงก่อนหน้าเพื่อเปิดให้มีการเดินทาง การแลกเปลี่ยนแรงงาน การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับต่างประเทศทีละน้อย ซึ่งก็น่าจับตาและเอาใจช่วย
ที่ต้องจับตาเพราะหากจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกๆ วันนั้น แท้จริงแล้วระบบสาธารณสุขของไทยยังสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยหลักหมื่นที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วันอยู่ได้หรือไม่ มาตรการคัดกรอกความรุนแรง มาตรการกักตัวอยู่บ้านด้วยตนเอง หรือมาตรการ Hospitel ยังรับมือไหวหรือไม่
จริงอยู่ที่หลักฐานทางสถิติชี้ชัดว่า อาการและผลข้างเคียงของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนี้ นั้นรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอย่างหนักในระลอกก่อน แต่ต้องไม่รวมถึงการกลายพันธุ์ ต้องไม่ลืมถึงจำนวนตัวเลขของผู้ป่วยที่แท้จริงที่อยู่ในประเทศเมื่อมาตรการเปิดประเทศได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป
สหรัฐ ถือเป็นกรณีศึกษาของไทยได้ เพราะมีทั้งจุดเหมือนและจุดต่างกับไทย และเราสามารถต่อยอด เรียนรู้ข้อเด่นและคิดแก้ไขข้อด้อยไว้ล่วงหน้าได้ สหรัฐเปิดประเทศอ้าแขนเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำการค้าในสหรัฐมานานหลายเดือนแล้ว ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่นั้นก็ได้รับวัคซีนจนครบโดสแล้วเป็นอย่างน้อย และก็มีกลุ่มประชากรอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น คิดเป็นจำนวนเข็มรวมคือ 3 หรือ 4 แล้วเช่นกัน ซึ่งไทยก็อยู่ในเงื่อนไขนี้เช่นเดียวกันกับสหรัฐเมื่อหลายเดือนก่อน
สหรัฐไม่เพียงอ้าแขนรับนักธุรกิจนักเดินทางจากต่างประเทศ แต่ยังเสนอฉีดวัคซีนฟรี เสนอบริการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ฟรี และที่สำคัญที่สุดมาตรการฟรีทั้งสองนี้เข้าถึงได้ง่าย เรียกได้ว่าหากคุณอยู่ในสหรัฐแล้วประสงค์อยากจะฉัดวัคซีนหรือตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุก คุณก็แค่ออกจากบ้านแล้วเดินเข้าร้านขายยาซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในสหรัฐเช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อในไทย เพียงแค่นี้ก็เรียบร้อย รู้ผลว่าหมู่หรือจ่าเลย
ขณะที่ไทยเสนอวัคซีนฟรี และยังเสนอชุดตรวจ ATK ฟรีเช่นเดียวกัน แต่เงื่อนไขนั้นดูยุ่งยากวุ่นวาย ตั้งแต่การลงทะเบียนผ่านแอป การนั่งเฝ้าไขว่คว้าหาช่องทางหรือโรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนที่เข้ามาอย่างกะปริบกะปรอย เช่นเดียวกับการขอรับชุด ATK ที่ต้องผ่านเกณฑ์ ลงทะเบียนคัดกรองในแอปก่อนที่จะไปรับที่ร้านยาหรือที่ที่รัฐจัดให้ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไกลบ้าน หรือไปถึงก็เจอป้ายประกาศว่า ชุด ATK ของรัฐนั้น “หมดแล้ว”
จุดนี้คือข้อแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสหรัฐกับไทย เพราะการเข้าถึงที่ยากทั้งวัคซีนในช่วงแรกและ ATK ที่ทำให้คนไทยต้องแบกรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ต้องจองวัคซีนล่วงหน้าด้วยราคาที่สูง และต้องจ่ายค่า ATK
ถูกต้องที่การลงทะเบียนก่อนรับบริการวัคซีนและรับชุด ATK นั้นมีข้อดีทั้งในด้านของความโปร่งใส การลดคอร์รัปชัน การกระจายจำนวนผู้รับบริการไม่ให้เกิดความแออัด ทั้งหมดทั้งมวลคือหลักการที่ดีบนความตั้งใจดี แต่ผลลัพธ์ที่กลายเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้กับประชาชน ซึ่งสุดท้ายประชาชนก็จำต้องควักเงินที่หามาอย่างยากลำบากในช่วงวิกฤตินี้ออกจากกระเป๋าเพื่อที่จะเข้าถึงวัคซีนและ ATK ได้
ขณะนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดหลังจากที่ไทยและทั้งโลกนั้น ประสบกับสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ทั้งรัฐและประชาชนจึงควรจับมือช่วยกันคนละไม้ละมือทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ อะไรที่ปรับได้เพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็สมควรพิจารณาเร่งลงมือ เพราะเวลาและโอกาสนั้นไม่เคยคอยใคร