เปิดเหตุผล ‘ยูเครน’ สู้ไม่ถอยสงครามยืดเยื้อ‘รัสเซีย’
เปิดเหตุผล‘ยูเครน’สู้ไม่ถอยสงครามยืดเยื้อ‘รัสเซีย’ ขณะผลสำรวจล่าสุดบ่งชี้ คนรุ่นใหม่ในรัสเซียไม่ต้องการแนวทางของปูติน
สงครามรัสเซีย-ยูเครนดำเนินไปกว่าสองสัปดาห์ ท่ามกลางความหวังของทั่วโลกว่าจะได้เห็นการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งและสันติสุขกลับคืนมา หลังจากสร้างความเสียหายในพื้นที่ มีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย และผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนหนีตายออกนอกประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พยายามที่เปิดเส้นทางมนุษยธรรมไปยังรัสเซียและเบลารุสเท่านั้น ทำไมผู้นำรัสเซียจึงทำแบบนั้นหาคำตอบได้
"ดร.ณัฐหทัย มานาดี" อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การที่ ปธน.ปูติน ต้องการแรงสนับสนุนจากชาวยูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย เพื่อตอกย้ำความชอบธรรมยิ่งขึ้นในปฏิบัติการทางทหารที่รัสเซียอ้างถึงความมั่นคงประเทศจากการขยายอิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) และเพื่อความปลอดภัยในแคว้นโดเนตสค์ และลูฮันสค์ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน
รัสเซีย-ยูเครนเป็นชาวสลาฟ
ดร.ณัฐหทัย ฉายภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระดับประชาชนรัสเซียและยูเครนว่า การที่ประธานาธิบดีปูตินพยายามชี้ให้เห็นว่าชาวยูเครนและรัสเซียมีเชื้อชาติที่เป็นชาวสลาฟเหมือนกัน ในความเป็นจริงชาวสลาฟก็ไม่ได้มีแค่รัสเซียและยูเครน แต่ยังมีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ ปธน.ปูติน ยังย้ำว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในศตวรรษที่ 18 ซึ่งในประวัติศาสตร์ชาวยูเครนไม่ได้อยู่ภายใต้จักรวรรดิรัสเซียเท่านั้น แต่ยังอยู่ภายใต้จักรวรรดิออสเตรียฮังการี รวมถึงลิทัวเนียด้วย
นาซีเยอรมันปลดแอกยูเครน
ส่วนการที่ประธานาธิบดีปูตินบอกว่า ครั้งหนึ่งชาวยูเครนพยายามแยกตัวออกออกจากดินแดน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง มีแนวรบ 2 ฝั่งคือทางตะวันตกได้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ ส่วนตะวันออกคือสหภาพโซเวียตที่เป็นฝั่งเดียวกับสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมนี
ครั้งที่เยอรมนีบุกเข้าไปในพื้นที่รัสเซียต้องผ่านดินแดนยูเครนในขณะนี้ นาซีเยอรมันได้ตั้งจักรวรรดิในยูเครน และในปี 2484 ทำให้ชาวยูเครนส่วนหนึ่งไปเข้าฝ่ายนาซีเยอรมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็น ปธน.ปูตินนำมากล่าวอ้างว่าคนเหล่านี้ฝักใฝ่ลัทธินาซีตั้งแต่อดีต แต่ต้องไม่ลืมว่ายูเครนพยายามที่จะมีดินแดนหรือประเทศเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะการปลดแอกตัวเองจากรัสเซียตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แล้วการที่นาซีเยอรมันเข้ามาในพื้นที่ก็เหมือนช่วยปลดแอกชาวยูเครนออกจากสหภาพโซเวียตในตอนนั้น
ขณะเดียวกัน รัสเซียหยิบยกเหตุการณ์สังหารชาวยิวจำนวนมากบริเวณชานเมืองกรุงเคียฟประมาณ 100,000 คน โดยข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์สงครามครั้งที่สองระบุว่า สมัยนั้นมีการสังหารชาวยิวประมาณ 25% ในดินแดนที่เป็นยูเครนปัจจุบัน เรื่องนี้้กลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อชาวรัสเซียให้สนับสนุนนโยบายปูตินให้มีความชอบธรรมยิ่งขึ้น
“ยูเครน”ต่อสู้เพื่อเอกราช
ดร.ณัฐหทัย เล่าว่า จุดเริ่มต้นการแบ่งแยกดินแดนยูเครนจากสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่1 เมื่อปี 2460 ซึ่งขณะนั้นได้เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย จนจักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย และเหตุการณ์ครั้งนั้นมีชาวยูเครนเชื้อสายสลาฟลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะต้องการมีประเทศเป็นของตนเอง และในปีเดียวกันนั้น ก็มีชาวยูเครนหลายหมื่นคนต่อสู้กับกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต เป็นการต่อสู้ยาวนานจนถึงปี 2463 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ท้ายที่สุดก็พายแพ้ ทำให้สหภาพโซเวียตผนวกยูเครนเป็นส่วนหนึ่งได้สำเร็จ
ปี 2473 เกิดเหตุการณ์โฮโลโดมอร์ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการทำให้อดอาหารจนถึงตาย ในสมัยของประธานาธิบดีโจเซฟ สตาลิน ของสหภาพโซเวียต เพื่อลงโทษชาวยูเครนชาตินิยมที่ต้องการแยกประเทศในปฏิวัติรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยทางการโซเวียตที่ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์บังคับให้ส่งผลผลิตทั้งหมดส่งให้กับส่วนกลาง ทำให้ชาวยูเครนเข้าไม่ถึงทรัพยากรในส่วนนี้และมีคนอดตายจำนวนมาก ขณะที่บางคนต้องกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง คาดว่า มีชาวยูเครนเสียชีวิตมากกว่า 3.9 ล้านคนในช่วงปี 2475 - 2476 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่าเพราะเหตุใดชาวยูเครนจึงต้องการปลดแอกตัวเอง และต้องการออกห่างจากรัสเซีย แม้ตอนนี้รัสเซียไม่ได้เป็นสหภาพโซเวียตแล้ว
การสำรวจของมหาวิทยาลัย University College London ระบุว่า คนรุ่นใหม่ในยูเครนไม่ต้องการสงคราม และชาวรัสเซียรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวทางของปูตินเหมือนกัน และส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า รัสเซียตัดสินใจโจมตียูเครน ซึ่งแนวทางการใช้กำลังทางทหารเป็นเรื่องล้าสมัยนับตั้งแต่จบสงครามโลกเย็น และกระแสโลกในปัจจุบันเอนเอียงเข้าสู่กระแสประชาธิปไตยที่เน้นสนับสนุนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค รวมถึงการสลายพรมแดน ดังนั้นการปลุกระดมความเป็นชาตินิยมจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัยในสายตาชาวรัสเซียรุ่นใหม่
หลายประเทศพยายามรวมกลุ่มความร่วมมือเหมือนกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นความร่วมมือในภูมิภาค รัฐเหนือรัฐ และผลักดันในสิ่งที่เรียกว่า “พลเมืองโลก” ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม
แนะรัสเซียปรับตัวรับศตวรรษที่ 21
รัสเซียต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกในศตวรรษที่ 21 แม้มองในมุมมองของผู้นำรัสเซียย่อมมองว่าเป็นภัยความมั่นคงและรัสเซียถูกกดดันโดยอิทธิพลของนาโต แต่อย่าลืมว่า ยูเครนมีสถานะความเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2534 และได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งมีองค์ประกอบความเป็นรัฐทุกอย่างทั้งเขตดินแดน ประชากร อธิปไตย ดังนั้นการที่รัฐบาลยูเคนตัดสินใจเข้าร่วมกับองค์กรใด ย่อมเป็นสิทธิของประเทศยูเครน และไม่ควรมีประเทศไหนเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง ไม่ว่าในอดีตยูเครนจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้นๆ เพราะยูเครนเป็นประเทศมานานกว่า 30 ปีแล้วก็ต้องปล่อยให้ดำเนินต่อไปโดยที่รัสเซียต้องยอมรับเรื่องนี้ให้ได้
การที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ตัดสินใจต่อสู้กับรัสเซียจนทำให้เกิดสงคราม อยากให้มองอีกมุมหนึ่งในเมื่อยูเครนมีสถานะเป็นรัฐ และมีสิทธิ์เต็มที่ในการป้องกันประเทศ และการที่รัฐใดใช้กำลังโจมตีรัฐหนึ่งถือว่าเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของชาติอื่น ถือเป็นการก่ออาชญากรรมโลกที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิต บาดเจ็บและมีการอพยพพลัดถิ่นหลายล้านคน