ซาอุดีอาระเบียเตรียมกำหนดราคาน้ำมันเป็นสกุลเงินหยวน

ซาอุดีอาระเบียเตรียมกำหนดราคาน้ำมันเป็นสกุลเงินหยวน

ขณะที่สหรัฐ กำลังสาละวนอยู่กับการระดมพันธมิตรเข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อลงโทษที่บุกยูเครน พันธมิตรสำคัญอย่างซาอุดีอาระเบียก็หันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ล่าสุดถึงขั้นจะซื้อ-ขายน้ำมันบางส่วนด้วยสกุลเงินหยวน

ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังจะดึงสกุลเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก ด้วยการกำหนดราคาน้ำมันบางส่วนที่ขายให้จีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็น “สกุลเงินหยวน”

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังเร่งเครื่องเจรจากับจีน และถ้าซาอุดีอาระเบียขายน้ำมันให้จีนเป็นเงินหยวน ก็จะถือเป็นการ “ลดทอน” อิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาดน้ำมันโลก และแสดงถึงการ “หันหน้าเข้าหาเอเชีย” ของซาอุดีอาระเบียด้วย

การเจรจาเพื่อกำหนดราคาน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก แต่กลับมีความคืบหน้าที่รวดเร็วในปีนี้ จากการที่ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องไม่สนับสนุนที่ซาอุดีอาระเบียเข้าไปแทรกแซงสงครามในเยเมน และสหรัฐฯ ยังจะไปพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน โดยเมินเสียงเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการมีนิวเคลียร์ของตัวเอง รวมไปถึงการถอนทหารแบบสายฟ้าแลบออกออกจากอัฟกานิสถาน

จีน ซื้อน้ำมันมากกว่า 25% ของจำนวนที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกทั้งหมด ซึ่งถ้ากำหนดราคาเป็นหยวนก็จะช่วยเพิ่มสถานะสกุลเงินของจีน และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมของซาอุดีอาระเบีย ที่จะกำหนดราคาการส่งออกน้ำมันดิบบางส่วน ประมาณ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์

ขณะที่การขายน้ำมันส่วนใหญ่ราว 80% ดำเนินการในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งซาอุดีอาระเบียดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2517 ภายใต้ข้อตกลงสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่สหรัฐฯ ให้การรับประกันว่าจะปกป้องราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
 

จีน ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่สามารถทำการซื้อขายได้ทั่วโลก ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการครอบงำตลาดน้ำมันของดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนความสัมพันธ์จีนกับซาอุดีอาระเบียเริ่มกระชับมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากการที่จีนช่วยซาอุดีอาระเบียสร้างขีปนาวุธของตัวเอง ให้คำปรึกษาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ และเริ่มเข้าไปในลงทุนในอภิมหาโครงการของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เช่น เมืองอัจริยะ “Neom” และการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2559