“สึนามิ” เกิดจากอะไรและก่อความเสียหายแค่ไหน ?

“สึนามิ” เกิดจากอะไรและก่อความเสียหายแค่ไหน ?

ทำความรู้จักคลื่นยักษ์ "สึนามิ" กันอีกครั้ง หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นและมีเตือนภัยสึนามิ ไปดูกันว่าสึนามิเกิดจากอะไร สร้างความเสียหายได้ขนาดไหน และประเทศไทยจะมีโอกาสพบกับสึนามิครั้งต่อไปหรือไม่

"สึนามิ" หรือที่หลายคนเรียกกันว่า คลื่นยักษ์สึนามินั้นต่างจากคลื่นน้ำธรรมดา เพราะตัวคลื่นนั้นสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล โดยไม่สูญเสียพลังงาน และสามารถเข้าทำลายชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลจากจุดกำเนิดหลายพันกิโลเมตร โดยปกติคลื่นสึนามิเป็นคลื่นในน้ำเดินทางได้ช้ากว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เป็นคลื่นที่เดินทางในพื้นดิน ดังนั้นคลื่นอาจเข้ากระทบฝั่งภายหลังจากที่ผู้คนบริเวณนั้นรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวเป็นเวลาหลายชั่วโมง

ก่อนหน้านี้ เมื่อคืนวันที่ 16 มี.ค.65 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.3 มีศูนย์กลางในทะเลใกล้ จ.ฟุกุชิมะ เมื่อเวลา 23.36 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น) โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ฟุกุชิมะ และมิยากิ ระวังคลื่นสึนามิ โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น รายงานว่า เกิดสึนามิ 30 เซนติเมตร ที่ท่าเรืออิชิโนมากิ จ.มิยากิ และ 20 เซนติเมตร ที่ท่าเรือเซนได จ.มิยากิ ล่าสุดมีรายงานมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 69 คน

  • สึนามิเกิดจากอะไร ?

กลุ่มคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจากการย้ายที่ของปริมาตรน้ำก้อนใหญ่ คือ มหาสมุทร หรือทะเลสาบขนาดใหญ่ แผ่นดินไหวในทะเล การปะทุของภูเขาไฟ และการระเบิดใต้น้ำอื่นๆ โดยรวมถึงการจุดวัตถุระเบิด หรือวัตถุระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำด้วย นอกจากนี้ยังเกิดจากเหตุดินถล่ม ธารน้ำแข็งไถล อุกกาบาตตก และการรบกวนอื่น ไม่ว่าเหนือน้ำหรือใต้น้ำ

เมื่อแผ่นดินใต้ทะเลเกิดการเปลี่ยนรูปร่างอย่างกะทันหัน จะทำให้น้ำทะเลเกิดเคลื่อนตัวเพื่อปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุล และจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ การเปลี่ยนรูปร่างของพื้นทะเลมักเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการขยับตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะเกิดบริเวณที่ขอบของเปลือกโลกหลายแผ่นเชื่อมต่อกัน นอกจากการกระทบกระเทือนจากใต้น้ำแล้ว การที่พื้นดินขนาดใหญ่ถล่มลงทะเล หรือการตกกระทบพื้นน้ำของวัตถุ ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นได้ ซึ่งคลื่นสึนามิที่เกิดในรูปแบบนี้จะลดขนาดลงอย่างรวดเร็ว และไม่มีผลกระทบต่อชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลมากเท่าไรนัก

  • ผลกระทบจากสึนามิ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อม และสังคม

ด้านสิ่งแวดล้อม

1. ทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับ ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์คลาดเคลื่อนไป

2. ส่งผลให้สภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

3. ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น สัตว์น้ำบางประเภทเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ด้านสังคม

1. สูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน เช่น บ้านเรือนเสียหาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลาย

2. กระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน เช่น การทำประมง การค้าขายบริเวณชายหาด ธุรกิจที่พักริมทะเล

3. ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

  • สึนามิญี่ปุ่น

เหตุการณ์สึนามิที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นคือ การเกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮกุ เมื่อ 11 มี.ค.2554 ซึ่งจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีรายงานว่า อยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ ภาคโทโฮกุ มีจุดเกิดแผ่นดินไหวลึกลงไปใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกสมัยใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ.2443 และทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงที่สุดถึง 40.5 เมตร ในมิยาโกะ จ.อิวาเตะ ภาคโทโฮกุ บางพื้นที่พบว่าคลื่นพัดลึกเข้าไปในแผ่นดินลึกถึง 14 กิโลเมตร และมีคลื่นที่เล็กกว่าพัดไปยังอีกหลายประเทศหลายชั่วโมงหลังจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 15,729 ราย บาดเจ็บ 5,719 ราย และสูญหาย 4,539 ราย ในพื้นที่ 18 จังหวัด รวมถึงมีอาคารที่ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายกว่า 125,000 หลัง

  • สึนามิในประเทศไทยครั้งแรก

เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 9.2 ศูนย์กลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ห่างจาก จ.ภูเก็ต ประมาณ 5280 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึง จ.ภูเก็ต และจังหวัดชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย และทำให้เกิดคลื่นสึนามิตามมา ในมหาสมุทรอินเดีย ซัดเข้าชายฝั่ง 14 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ศรีลังกา มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย กระทบ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก บ้านเรือนประชาชน โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เสียหายรวมมูลค่าหลายพันล้านบาท

  • โอกาสเกิดสึนามิในประเทศไทย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมคาดการณ์ว่า ยังคงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสึนามิอีกครั้งในประเทศไทย เพราะแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลอันดามันบางส่วนมีการสะสมพลังงานมาหลายร้อยปี และยังไม่ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแผ่นดินไหวและสึนามิ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบเตือนภัยที่เชื่อถือได้ และต้องเตรียมพร้อมที่จะอพยพหนีภัยในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง :

นักวิจัยชี้ ไทยมีโอกาสเจอ"สึนามิ"อีก ห่วงประชาชนเริ่มละเลยความเสี่ยง

แผ่นดินไหวเขย่า "ญี่ปุ่น" ขนาด 7.3 เตือนสึนามิชายฝั่ง "มิยางิ-ฟุคุชิมะ"

สึนามิ (Taunami)

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์